0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ผู้เขียน หัวข้อ: บุคคลสำคัญของจังหวัดภูเก็ต  (อ่าน 9037 ครั้ง)

ออฟไลน์ teacher_a

  • Teacher
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 348
  • ขอบคุณ: 15 ครั้ง
« เมื่อ: 11-11-14 07:57:21 »
จังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดหนึ่งทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อยู่ในมหาสมุทรอินเดียจังหวัดที่ใกล้เคียงทางทิศเหนือ คือ จังหวัดพังงา ทางทิศตะวันออก คือ จังหวัดพังงาและจังหวัดกระบี่


ทั้งเกาะล้อมรอบด้วยมหาสมุทรอินเดีย และยังมีเกาะที่อยู่ในอาณาเขตของจังหวัดภูเก็ตทางทิศใต้และตะวันออก การเดินทางเข้าสู่ภูเก็ตนอกจากทางเรือแล้ว สามารถเดินทางโดยรถยนต์ซึ่งมีเพียงเส้นทางเดียวผ่านทางจังหวัดพังงา โดยข้ามสะพานสารสินและสะพานคู่ขนาน คือ สะพานท้าวเทพกระษัตรีและสะพานท้าวศรีสุนทร เพื่อเข้าสู่ตัวจังหวัด และทางอากาศโดยมีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตรองรับ ท่าอากาศยานนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะ

คำว่า ภูเก็ต คาดว่าน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า บูกิต(ในภาษามลายูแปลว่าภูเขา) หรือที่เคยรู้จักแต่โบราณในนาม เมืองถลาง

ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร
หลวงพ่อแช่ม วัดฉลอง
หลวงปู่สุภา กันตะสีโล (หลวงปู่สุภา กนฺต สีโล)
พระยารัษฎานุประดิษฐมหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง)
ศิรินทรา ยายีทายาทรุ่นที่ 7 ของพระนางมะซูรีย์
หลวงอำนาจนรารักษ์ ผู้ริเริ่มประเพณีกินผัก (กินเจ) ขึ้นในภูเก็ต
นายอ๋องซิมผาย
ขุนเลิศโภคารักษ์(หลิม ตันบุญ)
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 11-11-14 08:30:39 โดย teacher_a »

ออฟไลน์ teacher_a

  • Teacher
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 348
  • ขอบคุณ: 15 ครั้ง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 11-11-14 08:03:05 »
ท้าวเทพกระษัตรี-ท้าวศรีสุนทร
   ท้าวเทพกระษัตรี เดิมชื่อ จัน เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๒๗๘ ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกฐกรุงศรีอยุธยา เป็นบุตรคนหัวปีของพระยาถลางจอมร้าง มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ๔ คน คือ น้องหญิงชื่อ มุก และชื่อหมา น้องชายชื่อ อาดและชื่อ เรือง คุณจันเกิดที่บ้านตะเคียน(ภายหลังตั้งเป็นตำบลตะเคียนแล้วรวมกับตำบลบ้านดอนตั้งเป็นตำบลเทพกระษัตรี)

   พ.ศ.๒๒๙๗ คุณจันได้แต่งงานกับหม่อมศรีบุตรของจอมนายกองเมืองตะกั่วทุ่ง ซึ่งเป็นชาวนครศรีธรรมราช ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยราชการเมืองตะกั่วทุ่งมีบรรดาศักดิ์ เป็นนายภักดีภูธร มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนพี่เป็นหญิงชื่อ ปราง คนน้องเป็นชายชื่อ เทียน อยู่มาถึง พ.ศ.๒๓๐๒ นายภักดีภูธรถึงแก่กรรม คุณจันจึงพาลูกกลับไปอยู่กับบิดาที่เมืองถลางตามเดิม

  พ.ศ.๒๓๐๕ คุณจันได้แต่งงานใหม่กับพระยาพิมลขัน มีบุตรด้วยกัน ๓ คน คนโตเป็นหญิงชื่อ ทอง น้องชาย ๒ คน ชื่อจุ้ย กับชื่อ เนียม อยู่ร่วมกันมาจนกระทั่งพระยาถลางจอมร้างผู้บิดาถึงแก่กรรมลงในปลายแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ขณะที่กรุงศรีอยุธยากำลังคับขัน และในที่สุดก็เสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า เมื่อ พ.ศ.๒๓๑๐ ส่วนทางเมืองถลางที่เกิดกรณีพิพาทกันในวงศ์ญาติ เรื่องแย่งตำแหน่งเจ้าเมือง ระหว่างพระยาพิมลขันเขยใหญ่กับนายอาดน้องเมีย ในที่สุดเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชผู้ปกครองดูแลหัวเมืองปักษ์ใต้ได้ตัดสินให้พระปลัดอาด เป็นพระถลางเจ้าเมือง ส่วนพระยาพิมลขันนั้นได้ไปเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ไม่แต่ลำพังมิได้พาคุณจันกับลูก ๆ ไปด้วยเพราะผิดใจกันในเรื่องที่ถูกน้องเมียฟ้องแย่งตำแหน่งเจ้าเมืองถลางไปได้ พ.ศ.๒๓๑๒ พระยาพิมลขันได้พ้นจากตำแหน่งเจ้าเมืองพัทลุงออกไปทำมาหากิน ค้าขายส่วนตัวที่ปีนัง เพราะได้ช่วยพาเจ้านครฯ หนีการจับกุมของกองทัพสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีแต่หนีไม่พ้น และได้กลับไปคืนดีกับคุณจันอยู่ด้วยกันที่เมืองตะกั่วทุ่ง และได้บุตรด้วยกันอีก ๒ คนเป็นหญิงชื่อ กิ่ม กับชื่อ เมือง พ.ศ.๒๓๑๙ เจ้านครฯ ได้สถาปนาให้มียศอย่างเป็นพระเจ้าประเทศราชมีนามว่าพระเจ้าขัตติยราชนิคมสมมุติมไหสวรรย์ พระเจ้านครศรีธรรมราช เพราะระหว่างอยู่ในกรุงได้รับราชการด้วยความจงรักภักดี พระเจ้านครศรีธรรมราชระลึกถึงพระยาพิมลขันว่าเป็นผู้มีบุญคุณพาพระองค์หนีไปในยามยาก จึงแต่งตั้งให้เป็น พระยาสุรินทราชาพระยาถลางขึ้นใหม่ และคุณจันก็ได้เป็นท่านผู้หญิงภริยาเจ้าเมืองพระยาสุรินทราชาเจ้าเมืองถลาง ได้ปกครองบ้านเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ ได้จัดซื้ออาวุธปืนไว้ใช้ในราชการ ๔๙๐ กระบอก เมื่อวันที่ ๕ สิงหาคม  พ.ศ.๒๓๒๐ สำหรับเมืองถลางใช้เองส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งส่งไปยังเมืองนครฯ และส่งไปถวายเพื่อเป็นกำลังรักษาพระนครบ้าง การเก็บภาษีอากรเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรมและพอเหมาะพอควร จึงทำให้มีเรือสินค้าต่างประเทศมาแวะติดต่อเสมอ ๆ

  พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาสุรินทราชาขันปกครองเมืองถลางเป็นเวลา ๑๐ ปี ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๓๒๘ พระยาสุรินทราชาขันก็ถึงแก่อนิจกรรม ทิ้งท่านผู้หญิงจันภรรยาให้เป็นม่ายและในเดือนธันวาคมปีนี้เอง มีข่าวทัพพม่ายกมาถึงเมืองตะกั่วป่า พระยาธรรมไตรโลก ได้มีหมายมาเกณฑ์กำลังพลเมืองถลางให้ไปช่วยป้องกันค่ายปากพระ แต่เมื่อพระยาถลางถึงอนิจกรรมพม่าตีเมืองตะกั่วป่า เมืองตะกั่วทุ่งแตกแล้วเลยมาตีค่ายปากพระแตกไปด้วย พระยาไตรโลกก็ตายในที่รบ ฝ่ายกองทัพพม่าได้ยกมาล้อมเพื่อจะตีเอาเมืองถลางต่อไป กองทัพเมืองถลางอันมีแม่ทัพกับรอง คือท่านผู้หญิงจันกับคุณมุก น้องสาว กับไพร่พลชาวถลางทั้งหญิงชายได้ต่อสู้รักษาเมืองเป็นสามารถ จนกองทัพพม่าไม่อาจตีหักเอาเมืองได้ จึงต้องเลิกทัพล่าถอยลงเรือกลับไปแต่วันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๓๒๘ เวลาที่ได้ต่อสู้กันประมาณเดือนหนึ่ง เหตุที่ได้ชัยชนะแก่พม่าในครั้งนี้ ก็เพราะเป็นการต่อสู้เพื่อรักษาบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ชาวถลางทั้งหลายจึงพร้อมใจกันรบพุ่งอย่างสุดกำลัง นอกจากจะมีกำลังใจในการต่อสู้แล้วยังมีอาวุธยุทโธปกรณ์เพียงพอพร้อมสรรพ ดังนั้นเราจึงไม่ควรลืมการปฏิบัติหน้าที่ราชการอันรอบคอบเห็นการณ์ไกลของพระยาสุรินทราชาพระยาพิมลขัน ขณะยังเป็นเจ้าเมืองถลาง

  เมื่อพม่าเลิกทัพกลับไปแล้ว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๑ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ตั้งท่านผู้หญิงจันเป็นท้าวเทพกระษัตรี และคุณมุกน้องสาวเป็นท้าวศรีสุนทร ถึง พ.ศ.๒๓๓๒ ได้โปรดให้นายเทียนบุตรชายคนโต ของท่านท้าวเทพกระษัตรี ที่เกิดกับนายภักดีภูธร เป็นพระยาเพชรคีรีศรีพิชัยสงครามรามคำแหง เจ้าเมืองถลาง

  ท่านท้าวเทพกระษัตรีมีอายุยืนยาวมาจนถึง พ.ศ.๒๓๓๕  เพราะปรากฏชื่อของท่านในจดหมายพระยาถลางเทียน ซึ่งมีไปถึงพระยาราชกปิตันในปีนั้น เมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ความว่า เจ้าคุณมารดาแก่ลงกว่าแต่ก่อนแล้วก็ไม่สบายเหมือนแต่ก่อน ดังนั้นท่านก็คงจะถึงแก่อนิจกรรมหลังจากนั้นไม่นานนักซึ่งน่าจะเป็นในพ.ศ.๒๓๓๖ ส่วนท่านท้าวศรีสุนทรก็คงจะถึงแก่อนิจกรรมในระยะเวลาใกล้เคียงกัน ชีวประวัติของวีรสตรีศรีเมืองถลางทั้ง ๒ ท่านก็เป็นอันสิ้นสุดยุติลง

อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร

  วีรกรรมในครั้งนั้นทำให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมบำเหน็จผู้ทำคุณแก่แผ่นดิน ให้ท่านผู้หญิงจันเป็น "ท้าวเทพกระษัตรี" และคุณมุกผู้เป็นน้องสาวเป็น "ท้าวศรีสุนทร"

  ตัวอนุสาวรีย์สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2509 อยู่บริเวณสีแยกท่าเรือ ที่อำเภอถลาง โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จ ฯ เปิดอนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรีท้าวศรีสุนทร เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2510 เป็นอนุสารย์ที่โดดเด่นเป็นสง่าด้วยสองวีรสตรไทยอยู่ใชุดโจงกระแบน สวมเสื้อแขนกระบอกห่มตะเบงมาน และมือขวาถือดาบ สามารถเดินข้ามถนนไปสักการะได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สมควรอย่างยิ่งสำหรับเรา ๆ ที่เป็นคนไทยให้ได้ทราบซึ้งถึงบุญคุณของบรรพบุรุษชาติไทยเรา

ที่มา  - http://th.wikipedia.org/wiki/ , http://www.phuketdata.net/

ออฟไลน์ teacher_a

  • Teacher
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 348
  • ขอบคุณ: 15 ครั้ง
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 11-11-14 08:08:37 »
พระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี(พ่อท่านแช่ม) ตำแหน่ง สังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต

 
พ่อท่านแช่มชาตะ ๒๓๗๐
มรณภาพ  ๒๔๕๑


  พ่อท่านแช่ม เป็นบุตรชาวบ้านในตำบลบ่อแสน อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา พ่อแม่ส่งให้มาอยู่ ณ วัดฉลอง เป็นศิษย์ของพ่อท่านเฒ่าตั้งแต่เล็ก เมื่อมีอายุพอจะบวชได้ ก็บวชเป็นสามเณร และ ต่อมาเมื่อมีอายุถึงที่จะบวชเป็นพระภิกษุก็บวชเป็นภิกษุจำพรรษา อยู่ ณ วัดฉลองนี้ พ่อท่านแช่ม ได้ศึกษาวิปัสสนาธุระจากท่านพ่อท่านเฒ่าจนเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญทางวิปัสสนาธุระเป็นอย่างสูง ความมีชื่เสียงของพ่อท่านแช่มปรากฎชัดในคราวที่พ่อท่านแช่มเป็นหัวหน้าปราบอั้งยี่ ซึ่งท่านจะได้ทราบต่อไปนี้

  ในปีพุทธศักราช ๒๔๑๙ กรรมกรเหมืองแร่เป็นจำนวนหมื่น ในจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดใกล้เคียงได้ซ่องสุมผู้คนก่อตั้งเป็นคณะขึ้นเรียกว่า อั้งยี่ โดยเฉพาะพวกอั้งยี่ในจังหวัดภูเก็ตก่อเหตุวุ่นวายถึงขนาดจะเข้ายึดการปกครองของจังหวัดเป็นของพวกตน ทางราชการในสมัยนั้นไม่อาจปราบให้สงบราบคาบได้ พวกอั้งยี่ถืออาวุธไล่ ยิง ฟัน ชาวบ้านล้มตายลงเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านไม่อาจต่อสู้ป้องกันตนเองและทรัพย์สิน ที่รอดชีวิตก็หนีเข้าป่าไป เฉพาะในตำบลฉลองชาวบ้านได้หลบหนีเข้าป่า เข้าวัด ทิ้งบ้านเรือนปล่อยให้พวกอั้งยี่เผาบ้านเรือนหมู่บ้านซึ่งพวกอั้งยี่เผา ได้ชื่อว่า  บ้านไฟไหม้ จนกระทั่งบัดนี้

  ชาวบ้านที่หลบหนีเข้ามาในวัดฉลอง เมื่อพวกอั้งยี่รุกไล่ใกล้วัดเข้ามาต่างก็เข้าไปแจ้งให้พ่อท่านแช่มทราบ และนิมนต์ให้พ่อท่านแช่ม หลบหนีออกจากวัดฉลองไปด้วย พ่อท่านแช่มไม่ยอมหนี ท่านว่า ท่านอยู่ที่วัดนี้ตั้งแต่เด็กจนบวชเป็นพระและเป็นเจ้าวัดอยู่ขณะนี้จะให้หนีทิ้งวัดไปได้อย่างไร

  เมื่อพ่อท่านแช่มไม่ยอมหนีทิ้งวัด ชาวบ้านต่างก็แจ้งพ่อท่านแช่มว่า เมื่อพ่อท่านไม่หนี พวกเขาก็ไม่หนีจะขอสู้มันละ พ่อท่านมีอะไรเป็นเครื่องคุ้มกันตัวขอให้ทำให้ด้วย พ่อท่านแช่มจึงทำผ้าประเจียดแจกให้โพกศีรษะคนละผืน เมื่อได้ของคุ้มกันคนไทยชาวบ้านฉลองก็ออกไปชักชวนคนอื่น ๆ ทีหลบหนีไปอยู่ตามป่า กลับมารวมพวกกันอยู่ในวัด หาอาวุธ ปืน มีด เตรียมต่อสู้กับพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ เที่ยวรุกไล่ ฆ่า ฟัน ชาวบ้าน ไม่มีใครต่อสู้ก็ชะล่าใจ ประมาทรุกไล่ ฆ่าชาวบ้านมาถึงวัดฉลอง ชาวบ้านซึ่งได้รับผ้าประเจียดจากพ่อท่านแช่มโพกศีรษะไว้ก็ออกต่อต้านพวกอั้งยี่ พวกอั้งยี่ไม่สามารถทำร้ายชาวบ้านก็ถูกชาวบ้านไล่ ฆ่า ฟันแตกหนีไป ครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งแรกของไทยชาวบ้านฉลอง ข่าวชนะศึกครั้งแรกของชาวบ้านฉลอง รู้ถึงชาวบ้านที่หลบหนีไปอยู่ที่อื่น ต่างก็พากันมายังวัดฉลอง รับอาสาว่า ถ้าพวกอั้งยี่มารบอีกก็จะต่อสู้ ขอให้พ่อท่านแช่มจัดเครื่องคุ้มครองตัวให้ พ่อท่านแช่มก็ทำผ้าประเจียดแจกจ่ายให้คนละผืน พร้อมกับแจ้งแก่ชาวบ้านว่า “ ข้าเป็นพระสงฆ์ จะรบราฆ่าฟันกับใครไม่ได้ พวกสูจะรบก็คิดอ่านกันเอาเอง ข้าจะทำเครื่องคุณพระให้ไว้สำหรับป้องกันตัวเท่านั้น” ชาวบ้านเอาผ้าประเจียดซึ่งพ่อท่านแช่มทำให้โพกศีรษะเป็นเครื่องหมายบอกต่อต้านพวกอั้งยี่
 
  พวกอั้งยี่ให้ฉายาคนไทยชาวบ้านฉลองว่า พวกหัวขาว ยกพวกมาโจมตีคนไทยชาวบ้านฉลองหลายครั้ง ชาวบ้านถือเอากำแพงพระอุโบสถเป็นแนวป้องกันอั้งยี่ไม่สามารถตีฝ่าเข้ามาได้ ภายหลังจัดเป็นกองทัพเป็นจำนวนพัน ตั้งแม่ทัพ นายกอง มีธงรบ ม้าล่อ เป็นเครื่องประโคมขณะรบกัน ยกทัพเข้าล้อมรอบ กำแพงพระอุโบสถ ยิงปืน พุ่งแหลน พุ่งอีโต้ เข้ามาที่กำแพง เป็นที่น่าอัศจรรย์ที่บรรดาชาวบ้านซึ่งได้เครื่องคุ้มกันตัวจากพ่อท่านแช่มต่างก็แคล้วคลาดไม่ถูกอาวุธของพวกอั้งยี่เลย รบกันจนเที่ยงพวกอั้งยี่ยกธงขอพักรบ ถอยไปพักกันใต้ร่มไม้ หุงหาอาหาร ต้มข้าวต้มกินกัน ใครมีฝิ่นก็เอาฝิ่นออกมาสูบ อิ่มหนำสำราญแล้วก็นอนพักผ่อนชาวบ้านแอบดูอยู่ในกำแพงโบสถ์ เห็นได้โอกาสขณะที่พวกอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้มตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่เผลอก็ออกไปโจมตีบ้าง  พวกอั้งยี่ไม่ทันรู้ตัวก็ล้อมตายและแตกพ่ายไป หัวหน้าอั้งยี่ประกาศให้สินบน ใครสามารถฆ่าหรือจับตัวพ่อท่านแช่มวัดฉลองไปมอบตัวให้จะให้เงินถึง ๕,๐๐๐ เหรียญ

  เล่าลือกันทั่วไปในวงการอั้งยี่ว่า คนไทยชาวบ้านฉลองซึ่งได้รับผ้าประเจียดของพ่อท่านแช่มโพกศีรษะ ล้วนแต่เป็นยักษ์มารคงทนต่ออาวุธ ไม่สามารถทำร้ายได้ ยกทัพมาตีกี่ครั้ง ๆ ก็ถูกตีกลับไปในที่สุดเจรจาขอหย่าศึกยอมแพ้แก่ชาวบ้านศิษย์พ่อท่านแช่ม โดยไม่มีเงื่อนไข

  คณะกรรมการเมืองภูเก็ต ได้ทำรายงานกราบทูลไปยังพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้คณะกรรมการเมืองนิมนต์พ่อท่านแช่ม ให้เดินทางไปยังกรุงเทพมหานครมีพระประสงค์จะทรงปฏิสันถารกับพ่อท่านแช่มด้วยพระองค์เอง พ่อท่านแช่มและคณะเดินทางถึงกรุงเทพมหานคร พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานสมณศักดิ์พ่อท่านแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจาริย์ญาณมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์เมืองภูเก็ต อันเป็นตำแหน่งสูงสุดซึ่งบรรพชิตจักพึงมีในสมัยนั้น
 
ในโอกาสเดียวกัน ทรงพระราชทานนามวัดฉลอง เป็น วัดไชยธาราราม
  จากคำบอกเล่าของคณะผู้ติดตามพ่อท่านแช่มไปในครั้งนั้นแจ้งว่ามีพระสนมองค์หนึ่งในรัชกาลที่ ๕ ป่วยเป็นอัมพาต พ่อท่านแช่มได้ทำน้ำพระพุทธมนต์ให้รดตัวรักษา ปรากฏว่าอาการป่วยหายลงได้เร็วจนสามารถลุกนั่งได้อนึ่ง การเดินทางไปและกลับจากจังหวัดภูเก็ตกับกรุงเทพมหานครในสมัยนั้นลำบากมาก ต้องเดินทางรอนแรมผ่านจังหวัดต่าง ๆ โดยทางเท้า ขากลับเดินทางผ่านวัด ๆ หนึ่งในจังหวัดชุมพร พ่อท่านแช่มและคณะได้เข้าพักระหว่างทาง ณ ศาลาหน้าวัดเจ้าอาวาสวัดนั้นนิมนต์ให้พ่อท่านแช่มเข้าไปพักในวัด แต่พ่อท่านแช่มเกรงใจ และแจ้งว่าตั้งใจจะพักที่ศาลาหน้าวัดแล้วก็ขอพักที่เดิมเถิด เจ้าอาวาสและชาวบ้านในละแวกนั้นบอกว่า การพักที่ศาลาหน้าวัดอันตรายอาจเกิดจากพวกโจร จะมาลักเอาสิ่งของพ่อท่านแช่มและคณะไปหมด พ่อท่านแช่มตอบว่า เมื่อมันเอาไปได้ มันก็คงเอามาคืนได้ เจ้าอาวาสและชาวบ้านอ้อนวอน พ่อท่านแช่มก็คงยืนยันขอพักที่เดิม เล่าว่า ตกตอนดึกคืนนั้น โจรป่ารวม ๖ คน เข้ามาล้อมศาลาไว้ ขณะนั้นคนอื่น ๆ หลับหมดแล้ว คงเหลือแต่พ่อท่านแช่มองค์เดียวพวกโจรเอื้อมเอาของไม่ถึง พ่อท่านแช่มก็ช่วยผลักของให้ สิ่งของส่วนมากบรรจุปี๊บใส่สาแหรก พวกโจรพอได้ของก็พากันขนเอาไป

  รุ่งเช้าเจ้าอาวาสและชาวบ้านมาเยี่ยม ทราบเหตุที่เกิดขึ้นก็พากันไปตามกำนันนายบ้านมาเพื่อจะไปตามพวกโจร พ่อท่านแช่มก็ห้ามมิให้ตามไป ต่อมาครู่หนึ่ง พวกโจรก็กลับมา แต่การกลับมาคราวนี้หัวหน้าโจรถูกหามกลับมาพร้อมกับสิ่งของซึ่งลักไปด้วย กำนันนายบ้านก็เข้าคุมตัว หัวหน้าโจรปวดท้องจุกเสียดร้องครางโอดโอย ทราบว่าระหว่างที่ขนของซึ่งพวกตนขโมยไปนั้น คล้ายกับมีเสียงบอกว่า ให้ส่งของกลับไปเสีย มิฉะนั้น จะเกิดอาเพท พวกโจรไม่เชื่อขนของต่อไปอีกหัวหน้าโจรจึงเกิดมีอาการจุกเสียดขึ้นจนไม่สามารถเดินทางต่อไปได้ เลยปรึกษากันตกลงขนสิ่งของกลับคืน พ่อท่านแช่มสั่งสอนว่า ต่อไปขอให้เลิกเป็นโจร อาการปวดก็หาย กำนันนายบ้านจะจับพวกโจรส่งกรมการเมืองชุมพร แต่พ่อท่านแช่มได้ขอร้องมิให้จับกุมขอให้ปล่อยตัวไป

  ไม่เพียงแต่ชนชาวไทยในภูเก็ตเท่านั้นที่มีความเคารพเลื่อมใสในองค์พ่อท่านแช่ม ชาวจังหวัดใกล้เคียงตลอดจนชาวจังหวัดต่าง ๆ ในมาเลเซีย  เช่น  ชาวจังหวัดปีนัง เป็นต้น ต่างก็ให้ความเคารพนับถือในองค์พ่อท่านแช่มเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะชาวพุทธในจังหวัดปีนัง ยกย่องพ่อท่านแช่มเป็นเสมือนสังฆปาโมกข์เมืองปีนัง ด้วย

  การปราบอั้งยี่ในครั้งนั้น เมื่อพวกอั้งยี่แพ้ศึกแล้วก็หันมาเลื่อมใสให้ความเคารพนับถือต่อพ่อท่านแช่มเป็นอย่างมาก แม้แต่ผู้ซึ่งนับถือศาสนาอื่นก็มีความเคารพเลื่อมใสต่อพ่อท่านแช่ม   เกิดเหตุอาเพทต่าง ๆ ในครัวเรือนต่างก็บนบานพ่อท่านแช่มให้ช่วยจัดปัดเป่าให้ ชาวเรือพวกหนึ่งลงเรือพายออกไปหาปลาในทะเลถูกคลื่น และพายุกระหน่ำจนเรือจวนล่ม ต่างก็บนบานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้คลื่นลมสงบ แต่คลื่นลมกลับรุนแรงขึ้น ชาวบ้านคนหนึ่งนึกถึงพ่อท่านแช่มได้ ก็บนพ่อท่านแช่มว่าขอให้พ่อท่านแช่มบันดาล ให้คลื่นลมสงบเถิด รอดตายกลับถึงบ้านจะปิดทองที่ตัวพ่อท่านแช่มเล่าให้พ่อท่านแช่มทราบและขอปิดทองที่ตัวท่าน พ่อท่านแช่มบอกว่า ท่านยังมีชีวิตอยู่จะปิดทองยังไง ให้ไปปิดที่พระพุทธรูป ชาวบ้านกลุ่มนั้นก็บอกว่า ถ้าพ่อท่านไม่ให้ปิดหากแรงบนทำให้เกิดอาเพทอีก จะแก้อย่างไร ในที่สุดพ่อท่านแช่มก็จำต้องยอมให้ชาวบ้านปิดทองที่ตัวท่านโดยให้ปิดที่แขนและเท้าชาวบ้านอื่น ๆ ก็บนตามอย่างด้วยเป็นอันมาก พอพ่อท่านแช่มออกจากวัดไปทำธุระในเมือง ชาวบ้านต่างก็นำทองคำเปลวรอคอยปิดทองที่หน้าแข้งของพ่อท่านแทบทุกบ้านเรือนจนถือเป็นธรรมเนียม เมื่อกรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จมาจังหวัดภูเก็ตนิมนต์ให้พ่อท่านแช่มไปหา ก็ยังทรงเห็นทองคำเปลวปิดอยู่ที่หน้าแข้งของพ่อท่านแช่มนับเป็นพระภิกษุองค์แรกของเมืองไทยที่ได้รับการปิดทองแก้บนทั้ง ๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่

  แม้แต่ไม้เท้าของพ่อท่านแช่ม ซึ่งท่านถือเป็นประจำกายก็มีความขลังประวัติความขลังของไม้เท้ามีดังนี้ เด็กหญิงรุ่นสาวคนหนึ่ง เป็นคนชอบพูดอะไรทะลึ่ง จึงบนพ่อท่านแช่มว่า ขอให้อาการปวดท้องหายเถิด ถ้าหายแล้วจะนำทองไปปิดที่ของลับของท่านพ่อท่านแช่มอาการปวดท้องก็หายไป เด็กหญิงคนนั้นเมื่อหายแล้วก็ไม่สนใจ ถือว่าพูดเป็นเล่นสนุก ๆ ต่อมาอาการปวดท้องเกิดขึ้นมาอีกพ่อแม่สงสัยจะถูกแรงสินบน จึงปลอบถามเด็ก เด็กก็เล่าให้พ่อแม่ฟัง พ่อแม่จึงนำเด็กไปหาพ่อท่านแช่ม พ่อท่านแช่มกล่าวว่า ลูกมึงบนสัปดนอย่างนี้ใครจะให้ปิดทองอย่างนั้นได้ พ่อแม่เด็กต่างก็อ้อนวอนกลัวลูกจะตายเพราะไม่ได้แก้บน ในที่สุดพ่อท่านคิดแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้โดยเอาไม้เท้านั่งทับสอดเข้าให้เด็กหญิงคนนั้นปิดทองที่ปลายไม้เท้า กลับบ้านอาการปวดท้องจุกเสียดก็หายไป ไม้เท้าของพ่อท่านแช่มอันนี้ยังคงมีอยู่ และใช้เป็นไม้สำหรับจี้เด็ก ๆ ที่เป็นไส้เลื่อน เป็นฝีเป็นปาน อาการเหล่านั้นก็หายไปหรือชะงักการลุกลามต่อไปเป็นที่น่าประหลาด

  พ่อท่านแช่มมรณภาพในปี พ.ศ.๒๔๕๑ เมื่อมรณภาพบรรดาศิษย์ได้ตรวจหาทรัพย์สินของพ่อท่านแช่มปรากฏว่าพ่อท่านแช่มมีเงินเหลือเพียง ๕๐  เหรียญเท่านั้น   ความทราบถึงบรรดาชาวปีนังและจังหวัดอื่นในมาเลเซีย ต่างก็นำเงิน    ขนเอาเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น มีข้าวสาร เป็นต้น มาช่วยเหลือหลายเรือสำเภา งานศพของพ่อท่านแช่มจัดได้ใหญ่โตมโหฬารที่สุดในจังหวัดภูเก็ตหรืออาจจะกล่าวได้ว่ามโหฬารที่สุดในภาคใต้บารมีของพ่อท่านแช่มก็มีมาจนกระทั่งปัจจุบัน

ที่มา - http://www.phuketdata.net

ออฟไลน์ teacher_a

  • Teacher
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 348
  • ขอบคุณ: 15 ครั้ง
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 11-11-14 08:29:26 »
มหาอำมาตย์โทพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี



  พระยารัษฎานุประดิษฐ์ นามเดิมคือ คอซิมบี้ ณ ระนอง  “ซิมบี้” แปลว่า  “ผู้มีจิตใจงาม” พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯเกิดเมื่อวันพุธเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ.๒๔๐๐ ชื่อ-สกุลเดิมของท่านคือ ซิมบี้ แซ่คอ ต้นตระกูล ณ ระนอง เป็นจีนฮกเกี้ยนชื่อ คอซู้เจียง เกิดที่บ้านแอซู่ แขวงเมืองเจียงจิวหู มณฑลฟูเกี้ยน ในปี พ.ศ.๒๓๔๐ เมื่ออายุประมาณ ๒๕ ปี ออกจากเมืองจีนมาเป็นกรรมกรอยู่ที่ปีนังเพื่อหาทุนทำการค้า เดินทางมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๗มาประกอบอาชีพค้าขายอยู่ที่เมืองตะกั่วป่า โดยได้รับอุปการะจากท้าวเทพสุนทร เมื่อมีทุนรอนมากขึ้นก็ย้ายตั้งหลักแหล่งอยู่ที่เมืองพังงาและขยายกิจการค้าทางเรือระหว่างหัวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกกับเกาะปีนัง ในปี พ.ศ.๒๓๘๗ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ผูกขาดทำดีบุกที่เมืองกระบุรีและระนอง และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงรัตนเศรษฐีนายอากรดีบุกแทนที่เจ้าภาษีคนก่อน จึงย้ายครอบครัวไปอยู่ที่เมืองระนอง ทำอากรดีบุกอยู่กว่า ๑๐ ปี เงินภาษีอากรส่งไม่ได้ขาดค้าง ในปี พ.ศ.๒๓๙๘ จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่พระรัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) เจ้าเมืองระนอง เมืองบริวารของเมืองชุมพร ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๐๕ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แยกเมืองระนองเป็นอิสระจากชุมพรขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และเลื่อนบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองขึ้นเป็นพระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง ถือศักดินา ๘๐๐

  ความมั่งคั่งร่ำรวยจากการผูกขาดทำภาษีอากรแบบ “เหมาเมือง” ในเมืองระนอง ทำให้พระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) สามารถขยายกิจการออกไปหลายอย่าง ทั้งด้านการค้าขายและเหมืองแร่ ได้ตั้งห้างโกหงวนขึ้นที่ปีนังสำหรับซื้อขายสินค้าจากเมืองระนอง และขยายการทำเหมืองแร่ดีบุกและกิจการค้าในเมืองหลังสวนอีกเมืองหนึ่ง

  พระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) ลาออกจากตำแหน่งเจ้าเมืองในปี พ.ศ.๒๔๒๐ แต่ก็ได้รับโปรดเกล้าฯ เพิ่มยศเป็นพระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซู้เจียง) จางวางกำกับราชการเมืองระนอง จนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๔๒๕

  พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซู้เจียง) มีภรรยา ๒ คน มีบุตรกับภรรยาคนแรก  ๕  คน   คือ  หลวงศรีโลหภูมิพิทักษ์(คอซิมเจ๋ง) ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง พระยาดำรงสุจริตมหิศรภักดี(คอซิมก๊อง) ผู้ว่าราชการเมืองระนอง(พ.ศ.๒๔๒๐–๒๔๓๙) และผู้ช่วยราชการเมืองระนอง พระยาอัษฎงคตทิศ รักษา(คอซิมซิม) ผู้ว่าราชการเมืองกระบุรีข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลชุมพร(พ.ศ.๒๔๘๙–๒๔๔๔) หลวงศรีสมบัติ(คอซิมจั๋ว)และพระยาจรูญราชโภคากร(คอซิมเต็ก) ผู้ว่าราชการเมืองหลังสวน(พ.ศ.๒๔๒๑–๒๔๔๑) และมีบุตรกับภรรยาคนที่ ๒ คือ คุณหญิงกิ้มอีก ๑ คน คือพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี(คอซิมบี้) บุตรทั้ง ๖ คนของพระยารัตนเศรษฐี(คอซู้เจียง) มีทายาทสืบต่อกันมาเป็นจำนวนมากกว่า ๗๐ คน แต่ส่วนใหญ่ได้หันไปประกอบอาชีพส่วนตัว ที่รับราชการมากกว่า ๒๐ คน กล่าวได้ว่า ตระกูล ณ ระนอง เป็นตระกูลที่แผ่สาขาเครือญาติออกไปอย่างกว้างขวางในระยะเพียง ๒-๓ ชั่วคนเมื่อบิดาของท่านถึงแก่อนิจกรรมไปแล้วท่านจึงมีโอกาสรับราชการโดยการสนับสนุนของพี่ชาย คือพระยารัตนเศรษฐี(คอซิมก๊อง) ได้นำท่านเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็กพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่หลวงบริรักษ์โลหวิสัย ผู้ช่วยราชการเมืองระนอง ในปี พ.ศ.๒๔๒๕ ขณะที่ท่านมีอายุ  ๒๕ ปี เมื่อตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกระบุรีว่างลงในปี พ.ศ.๒๔๒๘ จึงได้รับแต่งตั้งเป็นพระยาอัษฎงคตทิศรักษา ตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองกระบุรี
 
  เมื่อพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสเมืองกระบุรี ทรงทอดพระเนตรเห็นความสามารถของพระยาอัษฎงคตทิศรักษา(คอซิมบี๊) ที่ได้สร้างเมืองกระบุรีขึ้นใหม่ที่ตำบลน้ำจืด และความเจริญที่พระยาอัษฎงคตทิศรักษา(คอซิมบี๊) ได้สร้างให้กับเมืองกระบุรี ก็ทรงโปรดปรานมาก ในปี พ.ศ.๒๔๓๓ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี เป็นผู้สำเร็จราชการเมืองตรังและในปี พ.ศ.๒๔๔๔ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จ ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งนี้อยู่ถึง ๑๒ ปี จนกระทั่งถึงแก่อสัญกรรมในปี พ.ศ.๒๔๕๖ ระหว่างที่ดำรงตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลในปี พ.ศ.๒๔๕๖ พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองคมนตรีอีกตำแหน่งหนึ่งพร้อมกันไปด้วย

  พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นข้าราชการหัวเมืองที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น ทั้งยังเป็นที่โปรดปรานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถึง ๒ รัชกาล คือพระบาทสมเด็จฯ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเชื่อถือในความสามารถ โปรดหารือด้วยในกิจการบ้านเมืองจนได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตเป็นพิเศษให้ห้อยกระบี่เดินเข้าเฝ้าได้โดยไม่ต้องหมอบคลาน พระบาทสมเด็จฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถือเสมือนว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นพระสหายใกล้ชิดไว้วางพระราชหฤทัยปรับทุกข์สุขได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองคมนตรีผู้หนึ่งและมีพระราชดำริจะเลื่อนให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตร แต่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ กราบบังคมทูลไม่ขอรับพระราชกรุณา จึงโปรดเกล้าพระราชทานสายสะพายช้างเผือกชั้นที่ ๑ แต่ท่านยังไม่ทันได้รับพระราชทานก็ถูกหมอจันทร์ แพทย์ประจำเมืองตรังยิงและเสียชีวิตเสียก่อน

  พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เสียชีวิตที่บ้านจักรพงษ์ รัฐปีนัง เมื่อวันที่ ๑๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๖  การที่พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้รับเลือกให้เป็นข้าหลวงมณฑลหรือสมุหเทศาภิบาลต่างพระเนตรพระกรรณในมณฑลภูเก็จ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อความมั่นคงของชาติ ถือว่าไม่ใช่เรื่องธรรมดา จะต้องผ่านการกลั่นกรองและได้รับการยอมรับจากข้าราชการผู้ใหญ่ในกระทรวงมหาดไทย และเป็นที่รู้จักตลอดจนมีผลงานเป็นที่พอใจของข้าราชการและราษฎรในท้องถิ่นด้วย ซึ่งปรากฏว่าพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ สามารถผ่านขั้นตอนดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย ดังปรากฏในพระนิพนธ์ของสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นว่า “พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ทรงคุณวุฒิเป็นข้อสำคัญที่รู้จักเอาแบบแผนที่ดีทั้งของไทย ของฝรั่ง และของจีน มาประกอบกับอุบายใช้ทุนนิยมทำการให้สำเร็จประโยชน์ได้มาก จะยกแต่บางเรื่องมาเล่าพอเป็นอุทาหรณ์…. พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ไปชวนพ่อค้าที่เมืองปีนังให้เอาเรือไฟไปขายสินค้าที่เมืองตรัง… นอกจากบำรุงสินค้า พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ชอบทำถนนเบิกที่สองข้างทางให้เป็นทำเลกสิกรรม แล้วชวนคนต่างเมือง แม้จนพวกจีนชาวปีนังให้มาจองที่ลงทุนทำเรือกสวนไร่นา ชาวเมืองตรังเองถ้าใครตั้งหน้าทำมาหากินจริง ๆ ก็ลดหย่อนการกะเกณฑ์เรียกใช้… สามารถคิดแผนผังสร้าง   เมืองที่ตำบลกันตังขึ้นใหม่ ได้ตั้งเมืองว่าโดยย่อเพราะพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้แสดงความสามารถเป็นอย่างแปลกให้ปรากฏที่เมืองตรังแล้ว เมื่อตำแหน่งสมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จว่างลง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระยารัษฎานุประดิษฐ์ เป็น สมุหเทศาภิบาลมณฑลภูเก็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๔”
 
  พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ อยู่ที่เมืองภูเก็จถึง ๑๒ ปี ได้สร้างความเจริญให้กับเมืองภูเก็จหลายอย่าง ซึ่งเราจะพบเห็นร่องรอยในอดีตสมัยพระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ปกครองเมืองภูเก็จและอนุสรณ์สถานที่จะรำลึกถึงความดีของท่านอยู่ทั่วไปในเมืองภูเก็ต เช่น ศาลากลางจังหวัด ธนาคารชาร์เตอร์ด อาคารสถานีตำรวจภูธร ตลาดใหญ่ โรงพยาบาลวชิระ ตลอดจนถนนหนทางสายต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในสมัยของท่านบางสายเช่น สายขึ้นเขารัง ก็ใช้ชื่อ “คอซิมบี้” ของท่านเป็นชื่อถนน นอกจากนี้พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ยังเป็นนักปกครองยอดเยี่ยม สามารถกระตุ้นผู้นำกลุ่มต่าง ๆ ในเมืองภูเก็จ เช่น พระอร่ามสาครเขตร์ พระพิทักษ์ชินประชา ฯลฯ ให้เข้ารับใช้บ้านเมืองและสร้างความเจริญให้แก่บ้านเมืองอย่างเต็มกำลัง ทำให้เมืองภูเก็จสมัยที่ท่านเป็นสมุหเทศาภิบาลมณฑลเจริญรุ่งเรืองสูงสุด เป็นเมืองตัวอย่างที่สงบสุขปราศจากโจรผู้ร้าย คำกล่าวยกย่องของชาวภูเก็ตและชาวเมืองชายฝั่งทะเลตะวันตกที่ยกย่องให้ท่านเป็น  “ดวงประทีปแห่งชายฝั่งทะเลตะวันตก”หรือ “ยอดนักปกครองในรอบ ๒๐๐ ปีของชายฝั่งทะเลตะวันตก” ฯลฯ จึงเป็นคำกล่าวที่เหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง

  พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ ได้รับยกย่องจากคณะทำงานกิจกรรมวันข้าราชการพลเรือนเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ ว่า เป็น ๑ ใน ๕ ของข้าราชการพลเรือนดีเด่นสาขาการปกครองในรอบ ๒๐๐ ปี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติที่น่าชื่นชมยิ่ง และที่น่าสนใจสำหรับตัวท่านก็คือ ในบรรดานักปกครองทั้ง ๕ ท่านนั้น พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ เป็นผู้เดียวที่ไม่มีความรู้ทางหนังสือ ท่านเขียนหนังสือไม่ได้เลยไม่ว่าภาษาใด ๆ เว้นแต่เซ็นชื่อ กระนั้นท่านกลับพูดภาษาต่าง ๆ ได้ดีถึง ๙ ภาษา คือ ไทย มลายู อังกฤษ ฮินดูสตานี และภาษาจีน อีก ๕ ภาษา ทั้งยังได้แต่งตำราสอนราษฎรเกี่ยวกับการทำมาหากินไว้หลายเรื่อง  เช่นเรื่องการปลูกข้าว การเลือกเมล็ดพืช การเลี้ยงสัตว์จำพวกใช้งานและสัตว์จำพวกที่เลี้ยงเป็นอาหาร เป็นต้น โดยบอกให้เลขานุการประจำตัวจดตามคำบอกแล้วพิมพ์แจกจ่ายราษฎรท่านสามารถตรวจเอกสารราชการต่าง ๆ ได้โดยฟังจากคำอ่านของเลขานุการ พระยารัษฎานุประดิษฐ์ฯ มีความจำเป็นเลิศ มีปฏิภาณไหวพริบและช่างสังเกตเป็นเยี่ยมรวมทั้งการหมั่นติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวในวงการต่าง ๆ การได้เดินทางไปในที่ต่าง ๆ ทั้งในและนอกประเทศ ตลอดจนพบปะวิสาสะกับท่านผู้รู้ในหลาย ๆ สาขาวิชาชีพทำให้ท่านเป็นผู้มีความรู้มากผู้หนึ่ง จัดเป็นพหูสูตที่ยากที่จะหาสมุหเทศาภิบาลหรือเจ้าเมืองคนใดในยุคสมัยเดียวกันเสมอเหมือนได้

  จังหวัดภูเก็ตได้มีการสร้างรูปปั้นของท่านไว้เป็นอนุสาวรีย์เหมือนที่จังหวัดตรัง ซึ่งประดิษฐานอยู่บนเขารัง สถานที่ผักผ่อนและสวนสุขสภาพกลางเมืองภูเก็จ เพื่อเชิดชูเกียรติคุณของท่านให้สมกับคำกล่าวเก่าแก่ที่ติดปากชาวภูเก็ตและใกล้เคียงว่า “ภูเก็ตเป็นเมืองที่มีข้าราชการดี พระดี และผู้หญิงดี”

ที่มา - http://www.phuketdata.net

ออฟไลน์ Sakurai

  • Sakurai
  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
  • ขอบคุณ: 0 ครั้ง
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 14-10-16 11:28:58 »
ได้ความรู้ ประวัติศาสมากเลยครับ

ออฟไลน์ admin

  • Think Future
  • Administrator
  • Full Member
  • *****
  • กระทู้: 235
  • ขอบคุณ: 24 ครั้ง
    • www.akcsys.org
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 15-10-16 08:22:12 »
 :) ไว้ให้ลูกให้หลานรุ่นหลังได้ทราบกันต่อไปครับ

ออฟไลน์ Sasikran

  • gclub
  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
  • ขอบคุณ: 0 ครั้ง
    • ทางเข้า sbobet
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 10-04-18 10:23:33 »
ถ้าไปผมคงต้องขอกราบสักครั้ง