การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญก็คือการจัดการเรียนรู้ที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้เรียน โดยครูผู้สอนหรือผู้จัดการเรียนรู้พยายามหารูปแบบวิธีการที่เหมาะสมกับผู้เรียนที่จะให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเกิดการเรียนรู้ได้มากที่สุด...

การสอนแบบต่างๆโดยครูผู้สอนอธิบายหรือป้อนความรู้ให้ฝ่ายเดียว คงเป็นแบบอย่างหรือแนวทางที่ค่อนข้างเก่าและล้าสมัยไปแล้ว ผู้เรียนไม่มีโอกาสได้คิดสร้างความรู้ใหม่ๆเลย ครูผู้สอนมีความรู้แค่ไหนก็ถ่ายทอดให้แค่นั้น ส่วนผู้เรียนจะได้แค่ไหนก็สุดแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน การเรียนการสอนก็รู้สึกเบื่อหน่ายทั้งครูผู้สอนและผู้เรียน เพราะมีขั้นตอนแบบเดิมๆเก่าๆภายในห้องสี่เหลี่ยมเดิมๆ แต่ในปัจจุบันนี้หมดยุคสมัยดังกล่าวแล้ว ครูพันธุ์ใหม่และนักเรียนพันธุ์ใหม่ต้องร่วมกันเรียนรู้พร้อมกัน คิดสร้างสรรค์สิ่งแปลกๆ ใหม่ร่วมกัน ร่วมคิดร่วมเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆแต่ก่อนอื่นจะต้องมาเรียนรู้กันก่อนว่า การออกแบบและการวางแผนการจัดการเรียนรู้แบบใหม่ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมีกระบวนการขั้นตอนอย่างไร จะได้นำวิธีการหลักการและแนวคิดไปประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับตัวครูผู้สอนและตัวผู้เรียนต่อไป
1.การออกแบบและการวางแผนการจัดการเรียนรู้คืออะไร คำตอบที่ได้อย่างง่ายๆก็คือการคิดกำหนดหรือการจัดองค์ประกอบและลำดับขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้นั้นๆให้เหมาะสมเพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในการออกแบบและเน้นให้ผู้เรียนเป็นสำคัญนั้น จำเป็นจะต้องนำข้อมูลมา
ช่วยในการพิจารณาหลายอย่าง เช่น ข้อมูลนักเรียน ข้อมูลหลักสูตร ข้อมูลแหล่งการเรียนรู้ ข้อมูลหลักการและวิธีการสอนรูปแบบต่างๆ หลักการเรียนรู้หรือหลักจิตวิทยาการเรียนรู้เป็นต้น
การออกแบบการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอาจตั้งคำถามง่ายๆเพื่อถามตัวครูผู้สอนเองว่า 1.1. จะออกแบบการเรียนรู้เพื่อใคร (ผู้เรียนมีลักษณะอย่างไร)
1.2. เพื่อต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถและมีคุณลักษณะอย่างไร (จุดประสงค์)
1.3. จะใช้เทคนิควิธีการ รูปแบบกิจกรรม อย่างไรบ้างจึงจะเหมาะสม (เทคนิควิธีการสอน)
1.4. จะรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนเกิดการพัฒนาหรือเกิดการเรียนรู้แล้ว (เครื่องมือวัดผลประเมินผลอย่างไร)
2. ทำไมครูผู้สอนจึงต้องออกแบบการจัดการเรียนรู้ การเรียนการสอนของครูผู้สอนมีสภาพที่ยืดหยุ่น เปลี่ยนแปลงได้เสมอ เพราะการทำงานที่ต้องเกี่ยวกับคนต้องมีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ มิใช่มีสภาพที่คงที่คงตัว ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนจึงไม่มีสูตรตายตัวแน่นอนหรือแบบสูตรสำเร็จรูปที่ใช้ได้กับผู้เรียนทุกคนหรือทุกห้องเรียน ครูผู้สอนจึงมีบทบาทในการคิดกำหนดกิจกรรมวิธีการ รูปแบบกิจกรรมให้เหมาะสม กับทั้งผู้เรียนในแต่ละคนหรือแต่ละห้องเรียนซึ่งจะต้องแตกต่างกันและให้เหมาะสมกับจุดประสงค์ เป้าหมาย ของเนื้อหาสาระแต่ละเรื่องๆไป ด้วยความแตกต่างของผู้เรียน สภาพการ
ต่างๆ สภาพแวดล้อม ครูผู้สอนจึงจำเป็นที่จะต้องศึกษานำข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาคิดพิจารณา ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนและมากำหนดกิจกรรมใหม่ให้เหมาะสมกับผู้เรียน จุดประสงค์ เนื้อหา และบริบททั้งหลายในช่วงเวลานั้นๆ กิจกรรมต่างๆ ที่คิดกำหนดขึ้นยังต้องสามารถยืดหยุ่นและปรับกิจกรรมได้ทันท่วงทีตามความเหมาะสมของแต่ละสถานการณ์ “การออกแบบการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนั้นผู้ออกแบบต้องคำนึงถึงประโยชน์ของผู้เรียนตลอดกระบวนการ หรือตลอดในการกำหนดองค์ประกอบกระบวนการของการจัดการเรียนรู้”
3. ทำอย่างไรครูผู้สอนจึงออกแบบการเรียนรู้ได้ดี ความสามารถในการออกแบบการเรียนรู้เป็นคุณลักษณะสำคัญของครูมืออาชีพ ที่จะสามารถทำงานได้อย่างมีระบบ มีประสิทธิภาพ ผู้ออกแบบต้องมี ความรู้ดี มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และมีทักษะในการจัดกิจกรรม แนวคิดของครูในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนมีแนวคิด ดังนี้
3.1. ครูผู้สอนมีความตั้งใจในการพัฒนาการเรียนการสอนอยู่เสมอและมีความเมตตาปราณีต่อผู้เรียน ต้องการให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
3.2. ครูผู้สอนใฝ่ศึกษาหาความรู้ในการพัฒนาการเรียนการสอนและนำความรู้ไปสู่การปรับปรุงพัฒนาการเรียนการสอนอย่างต่อเนื่อง
3.3. พัฒนาความสามารถ ฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ คิดให้เป็นระบบจนเกิดทักษะในการคิดอย่างสร้างสรรค์
3.4. พัฒนาทักษะในการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมของผู้เรียนและสภาพโอกาส สถานที่
4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ 5 ลักษณะ(เบญจลักษณ์การเรียนรู้)ประกอบด้วย
4.1. การเรียนรู้อย่างมีความสุข ให้ผู้เรียนมีกิจกรรมที่มีความแปลกใหม่และร่วมกิจกรรมแล้วสนุกสนานและเกิดการเรียนรู้ด้วย
4.2. การเรียนรู้จากการได้แสวงหาความรู้ ได้คิดและได้ปฏิบัติจริง ฝึกให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการในการแสวงหาความรู้ จากการกระทำของผู้เรียนเองหรือจากแหล่งการเรียนรู้อื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน
4.3. การเรียนรู้ร่วมกับบุคคลอื่น คนเราจำเป็นต้องอยู่ในสังคม นักเรียนก็ต้องได้รับ การฝึกฝนให้เรียนร่วมกับบุคคลอื่นๆ ในสังคมในห้องเรียน ต้องมีการแลกเปลี่ยนช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันความรู้กัน จะเป็นการช่วยประหยัดเวลาได้ด้วย
4.4. การเรียนรู้แบบองค์รวม หรือการบูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวิถีธรรมชาติ เป็นการเรียนรู้บูรณาการเนื้อหาที่เรียนกับชีวิตจริงเชื่อมโยงเข้าสู่ด้วยกัน
4.5. การเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้ของตนเอง เป็นการส่งเสริมหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนได้ทบทวนสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้ไปแล้วและพัฒนาการเรียนรู้ต่อไป
การออกแบบการเรียนรู้ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นเพียงแค่แนวคิดที่ครูผู้สอนจะนำไปดัดแปลงและประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพวิชาของตนเอง สภาพนักเรียน และจุดประสงค์เป้าหมายที่ต้องการจะเกิดผลอย่างไรก็อยู่ที่ความตั้งใจของครูผู้สอนที่มีความตั้งใจจะพัฒนาการเรียนการสอนให้เกิดผลดีกับผู้เรียนมากน้อยแค่ไหน
ก่อนที่ครูผู้สอนจะไปออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนมีส่วนร่วม มีความสุขในการเรียนรู้ ลองมาช่วยกันคิดวิเคราะห์ว่าจะเกิดผลดีหรือผู้เรียนจะเกิดทักษะการเรียนรู้อะไรได้บ้าง หลังจากที่ออกแบบการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมกับผู้เรียนแล้ว จากประสบการณ์ของผู้เขียนที่จัด
กิจกรรมการเรียนรู้มาหลายปี และได้ศึกษาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้สอนที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลายรูปแบบวิธีการ ได้ข้อค้นพบว่าทำให้ผู้เรียนมีทักษะในการเรียนรู้ ดังนี้
1. ผู้เรียนจะเกิดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ ไม่เบื่อหน่ายต่อการเรียนไม่ง่วงหรือหลับในขณะเรียน
2. เปลี่ยนบรรยากาศที่อับเฉาไปสู่บรรยากาศที่แจ่มใสมีชีวิตชีวาได้เรียนรู้ร่วมกัน
3. เปลี่ยนจากกิจกรรมที่เฉื่อยชา ซ้ำซาก ไปสู่กิจกรรมเรียนรู้ที่หลากหลายตื่นเต้นเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน
4. ความสัมพันธ์ของผู้สอนกับผู้เรียนเป็นแบบกัลยาณมิตร ซึ่งกันและกันช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
5. ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ ได้ตามความสนใจ และความถนัดมีความสุขใจในการเรียนรู้
6. บทเรียนสนุกสนานแปลกใหม่ จูงใจ และเร้าใจ ให้อยากค้นคว้าแสวงหาความรู้ต่อไป
7. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ สัมผัสกับชีวิตจริงไม่ได้นึกฝันในเวลาเรียนได้รับการฝึกฝน มีทักษะในการแสวงหาความรู้ให้กับตนเอง
8. เกิดความรักและความภาคภูมิใจในตนเอง ภาคภูมิใจในความสามารถของตนเอง และสามารถปรับตัวเรียนรู้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่
9. นำความรู้ความสามารถไปใช้ในชีวิตประจ าวันได้อย่างภาคภูมิใจ
10. พัฒนาตนเอง และสามารถพัฒนาสังคมให้ก้าวหน้าได้
สุดท้ายนี้ผู้เขียนคิดว่า “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จในการจัดกิจกรรมการเรียนให้เกิดผลดีกับผู้เรียนจะอยู่ที่นั่น” อ.สุรพล เอี่ยมอู่ทรัพย์