0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ผู้เขียน หัวข้อ: ทักษะการกระตุ้นให้คิด  (อ่าน 12296 ครั้ง)

ออฟไลน์ เอกลักษณ์

  • Expert
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 265
  • ขอบคุณ: 39 ครั้ง
« เมื่อ: 03-06-14 08:23:40 »
ปัจจุบันเรื่องของการพัฒนาการคิดได้รับการยอมรับมากว่า สถาบันทางการศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับใด ๆ ก็ตาม ทั้งระดับก่อนวัยเรียน ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะนิสิตให้ฝึกหัดครูผู้ที่จะต้องออกไปเป็นครูในอนาคต   เพราะเราเชื่อว่าถ้าผู้เรียนรู้จักคิดเป็นแล้ว เขาก็จะมีเครื่องมือในการเรียนรู้และสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้


จุดมุ่งหมายของทักษะกระตุ้นให้คิด คือ
  1.  เพื่อให้ผู้ฝึกรู้วิธีในการส่งเสริมความสามารถในการคิดของผู้เรียน
  2.  เพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ อันจะช่วยเป็นแนวทางในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของผู้เรียน
  3.  เพื่อให้ผู้สอนตระหนักถึงการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนคิดอย่างมีเหตุผล
  4.  เพื่อฝึกให้ผู้สอนและผู้เรียนมีใจกว้าง ยอมรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  5.  เพื่อให้ผู้สอนรู้จักแบบของการคิดและพฤติกรรมของการคิดชนิดต่าง ๆ ที่จะสามารถนำไปฝึกปฏิบัติรวมทั้งฝึกให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนได้ด้วย

แบบการคิด
วีรยุทธ  วิเชียรโชติ  และคณะ ได้ทำวิจัยตามโครงการวิจัยการสอนสืบสวนสอบสวน และได้จำแนกแบบการคิดเป็น  5 แบบ ดังนี้
  1.  การคิดแบบวิเคราะห์  คือ  การคิดที่อาศัยข้อเท็จจริงรายละเอียดที่ปรากฏในสิ่งเร้าเป็นเกณฑ์ หรือรับรู้ในส่วนย่อยมากกว่าในส่วนร่วม
  2.  การคิดแบบจำแนกประเภท  คือ  การคิดที่พยายามจัดสิ่งเร้าออกเป็นประเภทต่าง ๆ ตามประสบการณ์ของตน โดยไม่คำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสิ่งเร้านั้น
  3.  การคิดแบบโยงความสัมพันธ์ คือ การคิดที่พยายามโยงสิ่งเร้าต่าง ๆ ให้สัมพันธ์กัน
  4.  การคิดแบบสังเคราะห์ คือ  ความสามารถในการรวมส่วนย่อยเข้าเป็นส่วนใหญ่     เรื่องราวใหญ่อันเดียวกัน ที่มีรูปแบบหรือหน้าที่ใหม่กว่าเดิม
  5.  การคิดแบบวิจารณญาณ  คือ  ความสามารถในการใช้ปัญญาตัดสินหรือชี้ขาดเรื่องราวต่าง ๆ หรือความสามารถในการไล่เลียงหาเหตุผล เพื่อสรุปเป็นข้อยุติตามวิธีการวิทยาศาสตร์

พฤติกรรมการคิด
การคิดแบบวิเคราะห์ คือ การคิดอย่างมีเหตุผลในการรวมสิ่งต่าง ๆ เข้าด้วยกัน โดยอาศัยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสิ่งเร้า ซึ่งประกอบด้วย
  1.  ความคล้ายคลึงกันทางด้านกายภาพ เช่น สี ลวดลาย ขนาดหรือรูปร่างเหมือนกัน
  2.  การแสดงอาการเหมือนกัน เช่น กำลังเดิน นั่ง นอน หรือเดินเหมือนกัน
  3.  การมีสิ่งที่เหมือนกัน เช่น มีกระเป๋าหูขาดเหมือนกัน
  4.  การแบ่งกลุ่มตามเพศ  หรือ  อายุ  เช่น ผู้ชาย ผู้หญิง หรือเด็ก
  5.  การมีโครงสร้างเหมือนกัน เช่น ทำด้วยไม้ หรือทำด้วยเหล็กเหมือนกัน

การคิดแบบจำแนกประเภท ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลในการจัดกลุ่มต่าง ๆ โดยอาศัยคุณสมบัติที่มีร่วมกันซึ่งไม่อาจสังเกตได้ ประกอบด้วย
  1.  การมีหน้าที่ การใช้หรือแสดงพฤติกรรมเหมือนกัน เช่น ใช้ฝาครอบป้องกันแมลงวันใช้สำหรับแข่งขัน
  2.  การใช้ชื่อรวมสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นพวกเดียวกัน เช่น สิ่งมีชีวิต อาวุธ เครื่องกีฬา
  3.  ความคล้ายคลึงของคุณสมบัติบางประการ เช่น ขึ้นจากดิน คนสร้างขึ้น หรือมีเครื่องยนต์เหมือนกัน เป็นการอ้างถึงคุณสมบัติที่มองไม่เห็นในสิ่งเร้า

การคิดแบบโยงความสัมพันธ์ ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลในการจัดกลุ่มสิ่งต่าง ๆ โดยอาศัยความสัมพันธ์ที่มีร่วมกัน ประกอบด้วย
  1.  การสร้างเรื่องให้สิ่งต่าง ๆ เกี่ยวข้องกัน  เช่น เอาลังใส่ท้ายรถลากไป  เป็นต้น
  2.  การเปรียบเทียบระหว่างสิ่งต่าง ๆ เช่น สิ่งหนึ่งต่างไปจากสิ่งหนึ่ง หรือดีกว่าอีกสิ่งหนึ่ง
  3.  การรวมสิ่งเร้าที่มีหน้าที่ร่วมกัน หรือต้องใช้ร่วมกัน  เช่น เก้าอี้คู่กับโต๊ะ  มีขวดต้องมีแก้วน้ำ

การคิดแบบสังเคราะห์ ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลในการรวมส่วนย่อยเข้าเป็นส่วนใหญ่     เรื่องราวใหญ่อันเดียวกัน ที่มีรูปแบบหรือหน้าที่ใหม่กว่าเดิม ประกอบด้วย
  1.  จัดลำดับเรื่องราวต่าง ๆ
  2.  สร้างแบบแผนหรือโครงการขึ้นตามแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  3.  จัดรูปสิ่งต่าง ๆ ขึ้นตามแนวใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การคิดแบบวิจารณญาณ ได้แก่ การคิดอย่างมีเหตุผลโดยใช้ปัญญาตัดสินหรือชี้ขาด     เรื่องราวต่าง ๆ หรือความสามารถในการไล่เลียงหาเหตุผล เพื่อสรุปเป็นข้อยุติตามวิธีการ       วิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย
  1.  แยกความจริงออกจากความคิดเห็นได้
  2.  สรุปจากข้อมูลที่ให้ไว้อย่างถูกต้อง
  3.  บอกได้ว่าข้อตกลงเบื้องต้นที่อยู่เบื้องหลังการสรุปคืออะไร
  4.  บอกได้ถึงข้อจำกัดของข้อมูล



รูปแบบการสอนเพื่อพัฒนาการคิด
1.การสร้างความคิดรวบยอด (Concept Attainment) ผู้คิดคือ Jerome Bruner มีจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาความคิดแบบอนุมาน มีเหตุผล สามารถพัฒนาความคิดรวบยอดของตนเองและความสามารถในการวิเคราะห์ โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
1.1  เสนอข้อมูลและจำแนกความคิดรวบยอด
   -  ผู้สอนนำเสนอตัวอย่างที่ชัดเจน
   -  ผู้เรียนตั้งและทดสอบสมมติฐาน
   -  ผู้เรียนจำแนกตัวอย่างตามลักษณะเฉพาะที่สำคัญ

1.2  ทดสอบความคิดรวบยอดที่สร้างขึ้น
   -  ผู้เรียนจำแนกตัวอย่างที่ยังไม่ชัดเจนเพิ่มเติม โดยผู้สอนใช้วิธีตอบว่า ใช่ หรือไม่ใช่
   -  ผู้เรียนตรวจสอบสมมติฐาน  สรุปชื่อความคิดรวบยอด
   -  ผู้สอนย้ำวิธีการจำแนกตัวอย่างตามลักษณะเฉพาะ
   -  ให้ผู้เรียนยกตัวอย่างเพิ่มเติม

1.3  วิเคราะห์ยุทธวิธีในการคิด
   -  ผู้เรียนอธิบายวิธีการคิดของตน
   -  ผู้เรียนอภิปรายถึงความสำคัญของสมมติฐาน และลักษณะเฉพาะ
   -  ผู้เรียนอภิปรายเกี่ยวกับตัวอย่างและสมมติฐานที่ตั้งขึ้น

2.การคิดเชิงอุปมาน (Inductive Thinking) ผู้คิดคือ Hilda Taba มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากระบวนการคิดของสมองเพื่อให้มีเหตุผลยิ่งขึ้น โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
2.1  การสร้างความคิดรวบยอด
   -  ผู้เรียนจำแนก บ่งชี้ จัดลำดับข้อมูล
   -  ผู้เรียนจัดกลุ่มข้อมูล
   -  ผู้เรียนตั้งชื่อและจัดประเภท

2.2  การตีความหมายของข้อมูล
   -  ผู้เรียนบ่งชี้ลักษณะสำคัญ
   -  ผู้เรียนค้นคว้าหาความสัมพันธ์
   -  ผู้เรียนสร้างคำตอบหรือแสดงนัยสำคัญ

2.3  นำหลักสำคัญไปใช้
   -  ผู้เรียนคาดคะเนผลที่เกิดขึ้น
   -  ผู้เรียนอธิบายลักษณะที่พบใหม่แล้วตั้งสมมติฐาน
   -  อธิบายสนับสนุนผลการคาดคะเนและการตั้งสมมติฐาน
   -  ยืนยันผลการคาดคะเน

3.การฝึกการคิดค้นหาคำตอบ (Inquiry Training) ผู้คิดคือ Richard Suchman มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนากระบวนการในการคิดค้นด้วยตนเองโดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  โดยมีขั้นตอนของการสอน คือ
3.1  การเผชิญปัญหา
   -  ผู้สอนอธิบายขั้นตอนในการพิจารณา
   -  ผู้สอนเสนอเหตุการณ์ที่ชวนสงสัย

3.2  รวบรวมและเสนอข้อมูล
   -  ผู้เรียนอธิบายถึงสภาพของข้อมูลที่ได้มา
   -  ผู้เรียนอธิบายสภาพปัญหา

3.3  รวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมและทดลอง
   -  ผู้เรียนแยกองค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง
   -  ผู้เรียนตั้งสมมติฐาน
   -  ผู้เรียนทดลองหาความสัมพันธ์เชิงเหตุผล

3.4  เรียบเรียงข้อความและกำหนดแนวอธิบายผล
   -  ผู้เรียนอธิบายผลที่เกิดขึ้น

3.5  วิเคราะห์กระบวนการในการคิดค้น
   -  ผู้เรียนวิเคราะห์ยุทธวิธีในการคิดค้นและสร้างยุทธวิธีใหม่ที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

4.การพัฒนาความรู้ (The Developing Intellect) ผู้คิดคือ Jean Piaget มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาความรู้ความคิดของผู้เรียนให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่กำลังเผชิญอยู่โดยให้เป็นไปตามพัฒนาการของผู้เรียนตามวัย โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
4.1  การเผชิญปัญหา
   -  ผู้สอนยกสถานการณ์ที่ชวนสงสัยให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด  โดยสถานการณ์นั้นต้องเหมาะสมกับวัยของผู้เรียน

4.2  การคิดค้นหาคำตอบ
   -  ผู้สอนให้ผู้เรียนตอบสนองต่อสถานการณ์ที่ผู้สอนยกมาเพื่อร่วมกันตัดสินใจว่าจะเลือกอะไร อย่างไร
   -  ผู้สอนคอยยั่วยุด้วยคำถามให้ผู้เรียนได้คิดจนหาคำตอบได้

4.3  การถ่ายโยง
   -  ผู้เรียนโยงความคิด  และตัดสินใจมาใช้กับสถานการณ์ที่คล้ายกัน  เพื่อจะได้รู้ว่าผู้เรียนยังคงไว้ในเหตุผลเดิมหรือไม่ โดยผู้สอนใช้วิธีการซักค้านหรือเสนอข้อขัดแย้งเพื่อให้คำตอบที่เกิดจากการตัดสินใจอย่างรอบคอบ

5.การคิดค้นทางวิทยาศาสตร์ (Scientific Inquiry) ผู้คิดคือ Joseph Schwab มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้เรียนได้เกิดการเรียนรู้จากการคิดค้น การตรวจสอบเพื่อให้เกิดความคิด     รวบยอดหรือเข้าใจวิธีการแก้ปัญหาและสามารถออกแบบการแก้ปัญหา  โดยมีขั้นตอนของ      การสอน ดังนี้
  5.1  ผู้สอนยั่วยุด้วยคำถามให้ผู้เรียนคิดค้นหาวิธีการในการศึกษา
  5.2  ผู้เรียนจัดระบบระเบียบของปัญหาเพื่อให้ง่ายต่อการตีความ
  5.3  ผู้เรียนจำแนกปัญหาเพื่อให้รู้ความยากง่ายและอุปสรรคในการคิดค้น
  5.4  นักเรียนแสดงการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ทดลองจัดข้อมูลใหม่  เป็นต้น

6.การคิดค้นทางสังคมศาสตร์ (Social Science Inquiry) ผู้คิดคือ Baron Massialas และ Benjamin Cox มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนานักเรียน ให้รู้จักคิด วิเคราะห์ และหาทางแก้ไขปัญหาสังคมอย่างมีระบบตามวิธีการสืบเสาะหาความรู้ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนมีบทบาทในการแก้ปัญหาและพัฒนาสังคม โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
6.1  เสนอปัญหา
  -  ผู้สอนนำเสนอปัญหาทางสังคมให้ผู้เรียนคิด
6.2  ตั้งสมมติฐาน
  -  ผู้เรียนคิดพิจารณาและช่วยกันตั้งสมมติฐานเป็นแนวทางในการ      สืบเสาะหาความรู้
6.3  ทำความกระจ่าง
  -  ผู้สอนช่วยชี้แนะให้นักเรียนทำความกระจ่างเกี่ยวกับคำ ข้อความในสมมติฐานให้มีความหมายที่เข้าใจตรงกัน
6.4  พิจารณาสมมติฐาน
  -  ผู้เรียนร่วมกันพิจารณาความหมายของสมมติฐานที่ตั้งไว้ว่ามีความ  ชัดเจนเพียงพอหรือไม่
6.5  รวบรวมข้อมูล
  -  ผู้เรียนรวบรวมข้อมูล หลักฐานเพื่อพิสูจน์สนับสนุนสมมติฐาน
6.6  สรุปนัยทั่วไป
  -  ผู้เรียนพิจารณาวิเคราะห์ข้อมูล แล้วสรุปนัยทั่วไปจากข้อมูลดังกล่าวเพื่อเสนอหนทางแก้ปัญหา

7.การคิดค้นทางชีววิทยา (Biological Science Inquiry model) ผู้คิดคือ Joseph Schwab มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ในสาขาวิชาชีววิทยารวมทั้งมีทักษะและความสามารถในการแสวงหาความรู้ ค้นคว้าหาคำตอบได้อย่างมีระบบตามระเบียบวิธีวิจัยทางชีววิทยา โดยมีขั้นตอนของการสอน ดังนี้
7.1  นำเสนอขอบข่ายปัญหาและกระบวนการในการแก้ปัญหา
  -  ผู้สอนนำเสนอขอบข่ายเนื้อหาที่เป็นปัญหาและกระบวนการแก้ปัญหา
7.2 จัดโครงสร้างของปัญหา
  -  ผู้เรียนจัดโครงสร้างของปัญหาให้ชัดเจนเพื่อให้มองเห็นอุปสรรค ใด ๆ ที่จะมีขึ้นในระหว่างการแก้ปัญหา
7.3  ระบุอุปสรรคในการแก้ปัญหา
  - ผู้เรียนพิจารณาและคาดการณ์หรือระบุสิ่งที่คาดว่าอาจเป็นอุปสรรคต่อการแสวงหาคำตอบเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ เช่น การตีความข้อมูล การควบคุมการทดลอง การสรุปอ้างอิง
7.4  หาวิธีขจัดอุปสรรค
  -  ผู้เรียนพิจารณาหาวิธีการขจัดอุปสรรค เช่นจัดข้อมูลใหม่  ออกแบบทดลองใหม่ ควบคุมตัวแปรในการทดลอง ฯลฯ

8.การใช้กลุ่มสืบเสาะหาความรู้ (Group Investigation Model) ผู้คิดคือ Herbert Thelen มีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาผู้เรียนทั้งในด้านเนื้อหาความรู้และด้านกระบวนการทางสังคม โดยใช้กระบวนการสืบเสาะหาความรู้เป็นหลักสำคัญในการสอน รวมทั้งกระบวนการประชาธิปไตยและพลังกลุ่มเพื่อให้ได้เรียนรู้และทำงานร่วมกัน โดยมีขั้นตอนการสอน ดังนี้
8.1  นักเรียนเผชิญกับสถานการณ์ปัญหา
  -  ผู้สอนนำเสนอปัญหาหรืออาจใช้ปัญหาซึ่งบังเอิญเกิดขึ้นในขณะนั้น ก็ได้
8.2  ผู้เรียนแสดงความคิดเห็นต่อปัญหานั้นและสำรวจความคิดเห็น ความรู้สึกของแต่ละคนที่มีต่อปัญหานั้น
8.3  ผู้เรียนร่วมกันวางแผนการทำงานเพื่อแก้หรือปัญหา หาคำตอบ เช่นศึกษา ตัวปัญหา หาข้อมูล กำหนดบทบาทความรับผิดชอบของแต่ละคน
8.4  ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่มตามที่กำหนดไว้
8.5  ผู้เรียนวิเคราะห์ความก้าวหน้าของการทำงานและกระบวนการทำงาน
8.6  ถ้ามีปัญหาใหม่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานแก้ปัญหานั้นโดยเริ่มทบทวน ขั้นตอนใหม่

คุณลักษณะที่ประเมิน
1. การเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงความคิด
2. วิธีการเร้าให้ผู้เรียนคิดโดย
  2.1 การจัดกิจกรรม
  2.2 ใช้คำถาม
  2.3 การสร้างสถานการณ์
  2.4 การใช้อุปกรณ์
  2.5 หรืออื่น ๆ
3. การช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสคิดได้หลาย ๆ แบบ เช่น คิดแบบโยงความสัมพันธ์ คิดวิเคราะห์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ เป็นต้น

ที่มา - blog phuntita


ออฟไลน์ เอกลักษณ์

  • Expert
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 265
  • ขอบคุณ: 39 ครั้ง
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 07-06-14 08:29:45 »
การใช้คำถาม : เทคนิคการกระตุ้นการคิด
       การใช้คำถาม หมายถึง การใช้ประเภทของคำถามเป็นและรู้จักลักษณะการถามที่ดี การใช้ประเภทของคำถามทั้งคำถามง่ายและคำถามยากหรือทั้งคำถามแคบและคำถามกว้างหรือทั้งคำถามระดับต่ำและคำถามระดับสูง การถามคำถามในห้องเรียน อาจมีความเป็นไปได้ดังนี้
1) ครูเป็นผู้ถามคำถามให้ผู้เรียนตอบ 
2) ครูและนักเรียนร่วมกันถามคำถาม ร่วมกันอภิปราย
3) นักเรียนเป็นผู้ถามคำถาม 

ส่วนลักษณะการถามคำถามที่ดีนั้นเป็นศิลปะในการถามคำถามที่ทำให้สามารถกระตุ้นการคิดของผู้เรียน กระตุ้นให้ผู้เรียนกล้าตอบสนองและกล้าถามย้อนกลับ
ความสำคัญของการใช้คำถาม
             1. ใช้เป็นสื่อสำหรับสำรวจและทบทวนพื้นความรู้เดิมและประสบการณ์เดิมของนักเรียน คำตอบของนักเรียนจะเป็นสื่อนำไปสู่การเรียนการสอนบทเรียนใหม่และประสบการณ์ใหม่
             2. ใช้กระตุ้นความสนใจของนักเรียน ครูอาจใช้คำถามเพื่อเร้าความสนใจของนักเรียนได้ทุกขั้นตอนในการเรียนการสอน เช่น การใช้คำถามเพื่อเริ่มต้นบทเรียน ถามให้นักเรียนสังเกต ให้ยกตัวอย่าง ใช้เป็นสิ่งเชื่อมโยงหรือเริ่มต้นการสนทนาระหว่างครูกับนักเรียน เพราะนักเรียนจะตอบคำถามของครูได้หากสนใจเรียนตลอดเวลา
             3. ใช้เสริมสร้างความสามารถทางความคิดให้แก่นักเรียน ช่วยให้นักเรียนฝึกคิดหาคำตอบ หาเหตุผล และหาความรู้ได้ด้วยตนเอง
             4. คำถามที่ดีจะช่วยให้มีการอภิปรายต่อเนื่อง เป็นการขยายความคิดและแนวทางในการเรียนรู้และข้อสรุปหลักเกณฑ์ใหม่ ๆ
             5. การใช้คำถาม ช่วยให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน เช่น ทำให้นักเรียนมีโอกาสตอบคำถาม เสนอความคิดเห็นและตั้งคำถาม รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมอื่น ๆ ด้วย
             6. ช่วยให้นักเรียนพยายามค้นคว้าหาความรู้ใหม่เพิ่มเติมเพื่อที่จะนำมาตอบคำถามของครู
             7. ใช้ช่วยทบทวนหรือสรุปบทเรียนให้เป็นที่เข้าใจตรงกัน
             8. ใช้ช่วยประเมินผลการเรียนของนักเรียนและการสอนของครู

ประเภทของคำถาม
      นักการศึกษาได้จำแนกประเภทของคำถามหลากหลายแบบ  ขึ้นกับเกณฑ์ที่ใช้ในการจำแนกประเภท  ดังเช่น
ถ้าใช้ความง่ายความยากเป็นเกณฑ์  ก็สามารถจำแนกเป็นคำถามง่ายและคำถามยาก  คำถามระดับต่ำและคำถามระดับสูง
ถ้าใช้ประเภทคำตอบของคำถามเป็นเกณฑ์ คือ  คำตอบที่แน่นอนกับคำตอบที่ไม่ใช่คำตอบที่แน่นอน  ก็สามารถจำแนกเป็นคำถามแคบและคำถามกว้าง

ถ้าใช้แนวคิดเบนจามิน บลูม กำหนดระดับขั้นการคิดในพุทธิพิสัย ก็แบ่งประเภทคำถามตามระดับขั้นของการใช้ความคิดในพุทธิพิสัย

การใช้แนวคิดการสืบสอบด้วยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ก็แบ่งประเภทคำถามตามแนวการสืบสอบด้วยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์แต่ละทักษะ

ดร.พิมพันธ์ได้กล่าวว่า คำถามจำแนกโดยใช้เกณฑ์ต่าง ๆ ได้หลายลักษณะ เช่น คำถามระดับต่ำ คำถามระดับสูง คำถามง่ายคำถามยาก นักการศึกษาบางกลุ่มแบ่งประเภทคำถามตามระดับ

ขั้นของการใช้ความคิดในพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) ตามแนวคิดของ Benjamin Bloom โดยแบ่งคำถามเป็น 6 ประเภทคือ

ถามความรู้ คำถามที่มีคำตอบแน่นอน ถามเนื้อหาเกี่ยวกับข้อเท็จจริง คำจำกัดความ คำนิยาม คำศัพท์ กฎ ทฤษฎีถามเกี่ยวกับใคร (who) อะไร (what) เมื่อไร (when) ที่ไหน (where) รวมทั้งใช่หรือไม่ เช่น มนุษยสัมพันธ์หมายถึงอะไร ผู้ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพคือใคร

ถามความเข้าใจ คำถามที่ต้องใช้ความรู้ ความจำมาประกอบเพื่ออธิบายด้วยคำพูดของตนเอง เป็นคำถามที่สูงกว่าถามความรู้ เช่น จงเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างการแพร่และการออสโมซิส จงอธิบายลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดี

ถามการนำไปใช้ คำถามที่นำความรู้และความเข้าใจไปใช้แก้ปัญหาในสถานการณ์ใหม่ เช่น ท่านจะมีวิธีประหยัดน้ำในครอบครัวของท่านได้หรือไม่ อย่างไร เมื่อเข้าชมพิพิธภัณฑ์ท่านควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง

ถามการวิเคราะห์ คำถามที่ให้จำแนกแยกแยะเรื่องราวต่าง ๆ ว่าประกอบด้วยส่วนย่อยอะไรบ้าง โดยอาศัยหลักการ กฎ ทฤษฎี ที่มาของเรื่องราว หรือเหตุการณ์นั้น เช่น สาเหตุสำคัญใดบ้างที่ทำให้เยาวชนเสพยาเสพย์ติด มูลเหตุสำคัญที่ทำให้สถิติ การมีสุขภาพจิตไม่ดีของคนในกรุงเทพฯ สูงขึ้นคืออะไร

ถามการสังเคราะห์ คำถามที่ใช้กระบวนการคิด เพื่อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลย่อย ๆ ขึ้นเป็นหลักการ หรือแนวคิดใหม่ เช่น จงสรุปหลักการถนอมอาหาร จากการศึกษา จงสรุปผลเกี่ยวกับสาเหตุการเกิดมะเร็ง

ถามการประเมินค่า คำถามที่ให้นักเรียนตีคุณค่าโดยใช้ความรู้ ความรู้สึก ความคิดเห็นในการกำหนดเกณฑ์ เพื่อประเมินค่าสิ่งเหล่านั้น เช่น ความคิดเห็นของเพื่อนคนใด เหมาะสมที่สุด ผลการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ของกลุ่มใดดีที่สุด
คณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (2534 : 74-78) ได้เสนอแนวคิดในการใช้คำถามสำหรับเด็กปฐมวัยว่า คำถามเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง เพราะคำถามจะเป็นเครื่องกระตุ้นให้เด็กเกิดการคิด และสนใจต่อสื่อและสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบ ๆ ตัว คำถามแบ่งเป็น 2 ระดับ คือ คำถามระดับต่ำ และคำถามระดับสูง

คำถามระดับต่ำ

เป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริง ซึ่งได้จากความจำและการสังเกต คำถามประเภทนี้มักมีคำตอบเดียว คำถามระดับต่ำแบ่งได้เป็น 6 ชนิดคือ

1. คำถามให้สังเกต เป็นคำถามที่ต้องการใช้ประสาทสัมผัส คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย เพียงส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วน รวบรวมข้อมูลในการตอบคำถาม แต่ผู้ตอบต้องไม่เพิ่มความรู้เดิม หรือความคิดเห็นส่วนตัวลงไป
  - เด็ก ๆ เห็นอะไรในภาพนี้บ้าง (ตา)
  - มะละกอที่เด็ก ๆ ชิมมีรสเป็นอย่างไร (ลิ้น)
  - เด็ก ๆ ลองเอามือเคาะโต๊ะ แล้วฟังซิว่ามีเสียงอย่างไร (หู)
  - ดอกไม้ที่เด็ก ๆ ถืออยู่มีกลิ่นหรือไม่ (จมูก)
  - ลองจับดูซิ ผิวของน้อยหน่าเป็นอย่างไร (ผิวกาย)

2. คำถามให้ทบทวนความจำเป็นคำถามที่ผู้ตอบสามารถนำความรู้หรือประสบการณ์เดิมมาตอบคำถาม
  - เด็ก ๆ ทราบไหม นกกินอะไรเป็นอาหาร
  - ลองนึกดูซิ ไก่ที่เด็ก ๆ เคยเห็นมีลักษณะอย่างไร
  - รุ้งกินน้ำมีกี่สี
  - สัตว์ปีกออกลูกเป็นอะไรก่อน

3. คำถามให้บอกความหมายหรือคำจำกัดความเป็นคำถามที่ใช้ตรวจสอบประสบการณ์เดิมเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องคำศัพท์และความหมายของคำ ก่อนการจัดประสบการณ์ใหม่แก่ผู้เรียน
  - รังนกหมายถึงอะไร
  - บ้านของนักเรียนอีกอย่างหนึ่งว่าอะไร
  - ข้าวเปลือกหมายถึงข้าวลักษณะอย่างไร

 4. คำถามชี้บ่งเป็นคำถามที่กำหนดข้อมูลไว้หลายอย่าง แล้วให้เลือกข้อมูลอย่างหนึ่งที่เด็กต้องการนำมาเป็นคำตอบ
  - ตัวหนอน หญ้าแห้ง น้ำหวานจากดอกไม้ สิ่งใดคือ อาหารของนก
  - มะม่วง สัม และน้อยหน่า ผลไม้ชนิดใดที่มีเมล็ดภายในผลเพียงเมล็ดเดียว
  - ระหว่างวัว ช้าง และม้า สัตว์ชนิดใดวิ่งเร็วที่สุด
  - ปลาดุก ปลานิล และปลาทอง ปลาชนิดใดที่เลี้ยงไว้ดูเล่น

5. คำถามถามนำเป็นคำถามที่ใช้เน้นเรื่องที่ครูพูด และดึงความสนใจของเด็ก คำถามประเภทนี้มักนำไปสู่คำตอบ ใช่ จริง ถูก เป็นส่วนใหญ่
  - แก้วเป็นเด็กที่เลี้ยงนก ใช่หรือไม่
  - ต้นไม้ในภาพมีขนาดใหญ่ใช่ไหม
  - เด็ก ๆ คิดว่าการยิงนกเป็นสิ่งดีหรือไม่

6. คำถามเร้าความสนใจ  เป็นคำถามที่ไม่ต้องการคำตอบอย่างจริงจัง แต่ใช้เพื่อดำเนินกิจกรรมในชั้นเรียนให้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้
  - เด็ก ๆ คอยดูซิว่า เพื่อนจะทำท่าอะไรต่อไป
  - เด็ก ๆ ลองคิดดูซิว่า ในกล่องนี้มีอะไรอยู่

คำถามระดับต่ำทั้ง 6 ชนิดดังกล่าว ยังมีความจำเป็นในห้องเรียนอยู่มิใช่น้อย ทั้งนี้เพราะครูอาจเลือกใช้คำถามเพื่อทบทวนความจำ ใช้เชื่อมโยงความรู้และประสบการณ์เดิมไปสู่ประสบการณ์ใหม่ และเพื่อควบคุมกิจกรรมในห้องเรียนให้ดำเนินไปในทิศทางที่ต้องการ

คำถามระดับสูง

เป็นคำถามที่ส่งเสริมให้ผู้ตอบใช้ความคิด นำความรู้และประสบการณ์เดิมมาเป็นพื้นฐานสรุปหาคำตอบ ส่งเสริมให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์และเกิดทักษะในการคิดอย่างมีระบบ นอกจากนั้นยังเป็นคำถามที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบได้แสดงความคิดเห็น ตลอดจนกระตุ้นให้ได้ลองแก้ปัญหาด้วยตนเอง คำถามระดับสูงแบ่งได้เป็น 7 ชนิดคือ

1. คำถามให้อธิบาย เป็นคำถามที่ผู้ตอบจะต้องนำความรู้ และประสบการณ์เดิมมาเป็นพื้นฐานสรุปหาคำตอบ
  - ถ้าเด็ก ๆ อยากทราบว่า มดที่เลี้ยงไว้ชอบอาหารประเภทใดมากที่สุด เด็ก ๆ จะทำอย่างไร
  - ทำไมเด็ก ๆ จึงบอกว่า มดชอบกินน้ำหวาน ลองเล่าให้เพื่อน ๆ ฟังซิ
  - ทำไมเด็ก ๆ เหล่านี้จึงไม่สวมเสื้อในฤดูหนาว
  - ทำไมมดแต่ละรังต้องมีนางพญามด

2. คำถามให้เปรียบเทียบเป็นคำถามที่มีจุดมุ่งหมายให้เด็กใช้ความคิดเปรียบเทียบของสองสิ่งว่า มีคุณสมบัติหรือลักษณะคล้ายกันหรือต่างกันอย่างไร คุณสมบัติที่นำมาเปรียบเทียบนั้นได้แก่ รูปร่าง ลักษณะ สี ขนาด น้ำหนัก จำนวน ปริมาตร ความสูง ความยาว ความหนา รสชาติ กลิ่น ฯลฯ
  - เสือกับแมวมีอะไรต่างกันบ้าง
  - เสือกับแมวมีอะไรที่คล้ายกัน
  - ถ้าเราต้องช่วยกันจัดผลไม้เหล่านี้ใส่กระจาด 2 ใบ เด็ก ๆ จะจัดแบ่งอย่างไร ลองคิดและเล่าให้เพื่อน ๆ ฟัง

3. คำถามให้จำแนกประเภท เป็นคำถามเพื่อส่งเสริมให้เด็กรู้จักจัดกลุ่ม จัดหมวดหมู่โดยใช้เกณฑ์ของตนเองหรือของผู้อื่น หรือบอกเกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มที่ผู้อื่นทำไว้  เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดกลุ่มนี้อาจได้แก่ สี ขนาด รูปร่าง ประโยชน์ หรือวัสดุที่ใช้ หากเป็นภาพของสิ่งมีชีวิตอาจแบ่งตามอาหาร ที่อยู่อาศัย ลักษณะเช่น สัตว์ 2 เท้า สัตว์ 4 เท้า และประโยชน์ เช่น สัตว์เลี้ยงไว้ใช้งาน เป็นต้น
  - ครูแบ่งมดออกเป็น 2 พวกอย่างที่เห็น เด็ก ๆ บอกได้ไหมว่าทำไมครูจึงแบ่งเช่นนี้
  - ลองคิดดูซิว่า เราจะแบ่งภาพสัตว์เหล่านี้เป็น 2 กลุ่มได้อย่างไรดี

 4. คำถามให้ยกตัวอย่าง เป็นคำถามที่ต้องการให้ผู้ตอบบอกชื่อ หรือยกตัวอย่างของสิ่งที่กำหนดให้ โดยอาศัยทักษะการสังเกต และมีความรู้ความจำเรื่องต่าง ๆ เป็นพื้นฐานในการหาคำตอบ
  - ให้นักเรียนยกตัวอย่างผักที่ใช้เป็นอาหารคนละ 1 ชื่อ
  - ให้บอกชื่อสิ่งของที่บรรจุอยู่ในกระป๋องมาคนละ 1 ชื่อ
  - บอกชื่อผลไม้ที่มีรสหวานคนละ 1 ชนิด
  - มีสัตว์ชนิดใดบ้างที่เลี้ยงไว้ใช้งาน

5. คำถามให้วิเคราะห์ เป็นคำถามที่ให้คิดค้นหาความจริงหรือแยกแยะเรื่องราวเพื่อหาสาเหตุและผลต่าง ๆ ของปัญหาที่เกิดขึ้น หรือให้นักเรียนได้คิดค้นหาความจริงต่าง ๆ ที่ประกอบขึ้นมาเป็นเรื่องราวหรือเหตุการณ์
  - แมวมีประโยชน์อย่างไร
  - แมวให้โทษอย่างไร
  - ถ้าจะเลี้ยงแมว เด็ก ๆ จะต้องเตรียมอะไรบ้าง
  - ทำไมผ้าจึงแห้งได้
  - จงช่วยกันบอกชื่อส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้

6. คำถามให้สังเคราะห์สังเคราะห์ หมายถึง การผสมรวมสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่สองสิ่งขึ้นไปให้เกิดเป็นของใหม่ขึ้นมาเช่น การปรุงอาหาร การพูด การเขียนให้เป็นข้อความหรือเรื่องราวที่เป็นแนวคิดใหม่ หรือพัฒนาของเก่าให้ดีขึ้น ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น คำถามให้สังเคราะห์ เป็นคำถามที่มีจุดมุ่งหมายให้เด็กใช้กระบวนการคิด เพื่อสรุปความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลย่อยขึ้นเป็นหลักการ
  - อะไรเอ่ย นกมีหู หนูมีปีก บินหลบหลีกอยู่กลางคืน
  - ถ้าไม่อยากให้ฟันผุ เด็ก ๆ คิดว่าควรทำอย่างไร
  - ถ้ามดง่ามตัวโตเท่าช้างจะเป็นอย่างไร
  - ถ้าคนบินได้อะไรจะเกิดขึ้น
  - ถ้าสัตว์ต่าง ๆในโลกนี้พูดภาษาคนได้อะไรจะเกิดขึ้น (เป็นคำถามที่มุ่งให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ คือ คิดในแนวทางที่แปลกและแตกต่างไปจากเดิมเกิดเป็นแนวคิดใหม่)

7. คำถามให้ประเมินค่า เป็นคำถามที่มีจุดมุ่งหมายให้ได้พิจารณาคุณค่าของสิ่งของก่อนตัดสินใจอย่างมีเหตุผล รู้จักประเมินค่าของสิ่งต่าง ๆ โดยใช้กฎเกณฑ์ที่เป็นจริง และเป็นที่ยอมรับของสังคมแล้ว มาสนับสนุนความคิดเห็นของตนก่อนตัดสินใจ
  - อาหารจานนี้หนูควรรับประทานหรือไม่ เพราะเหตุใด
  - เด็ก ๆ ควรเอาอย่างเด็กในภาพหรือไม่ เพราะเหตุใด (ครูให้ดูภาพเด็กกำลังยิงนก ครูต้องการให้เด็กประเมินการกระทำของเด็กคนนั้นในภาพพร้อมทั้งบอกเหตุผล)

ลักษณะการใช้คำถามที่ดี

นอกจากผู้สอนต้องรู้จักการใช้คำถามประเภทต่าง ๆ แล้วควรต้องรู้จักใช้ทั้งคำถามระดับต่ำหรือง่ายปนกับคำถามระดับสูง หรือคำถามยาก เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนคิดทั้งง่ายและยากขึ้น เป็นลำดับ เพื่อพัฒนาสู่การเป็นผู้มีความสามารถคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) เพื่อที่จะสามารถตัดสิน จะทำจะเชื่อ หรือแก้ปัญหาได้อย่างมีหลักการและถูกทาง นอกจากการฝึกใช้ประเภทคำถามแล้ว ยังต้องฝึกการถามในลักษณะดี หลีกเลี่ยงลักษณะไม่ดี ลักษณะการใช้คำถามที่ดี มีดังต่อไปนี้

เตรียมคำถามล่วงหน้า เพราะจะสามารถถามได้อย่างเรียงลำดับตามความง่ายยาก ตามลำดับเนื้อหา และช่วยให้มีความมั่นใจในการถาม
ถามอย่างมั่นใจโดยใช้ภาษาชัดเจน กะทัดรัด
ถามแล้วต้องมีเวลารอคอย ประมาณ 3 วินาที เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เรียนทั้งเก่งและไม่เก่งได้คิดอย่างทั่วถึง จากนั้นจึงเรียกชื่อผู้เรียนให้ตอบคำถาม ไม่กำหนดผู้ตอบก่อนถามคำถาม
ถามทีละคน และตอบทีละคน แต่ต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนตอบหลาย ๆ คน ในคำถามเดียวกัน
ถามแล้วไม่ทวนคำถาม และไม่ทวนคำตอบ
ควรใช้ท่าทาง เสียงประกอบการถามเพื่อกระตุ้นความสนใจ
ควรใช้คำถามปูพื้น เมื่อตอบคำถามแรกไม่ได้
ควรใช้คำถามง่ายและยากปนกันในการสอนครั้งหนึ่ง ๆ
ควรเปิดโอกาสให้นักเรียนถามคำถามผู้สอน
ผู้สอนที่มีทักษะการใช้คำถาม หมายถึง ผู้ที่มีความรู้ และความเข้าใจประเภทของคำถาม  ต่าง ๆ รวมทั้งรู้ลักษณะที่ดีของการถาม และรู้วิธีหลีกเลี่ยงลักษณะที่ไม่ดีของการถาม และต้องเป็น ผู้สามารถนำความรู้ไปใช้ปฏิบัติในการถามคำถามผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

ที่มา พิมพันธ์  เดชะคุปต์.  (2545).  พฤติกรรมการสอนวิทยาศาสตร์.  กรุงเทพฯ:  บริษัท พัฒนาคุณภาพวิชาการ (พว.) จำกัด.
http://www.gotoknow.org/posts/306302

ออฟไลน์ Dabeautiful

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
  • ขอบคุณ: 0 ครั้ง
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 28-08-14 14:39:46 »
บทความดีมีสาระมากเลยล่ะครับ

ออฟไลน์ Kookkaisoda

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
  • ขอบคุณ: 0 ครั้ง
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 11-09-14 13:55:37 »
มีสาระมากเลยครับอ่านแล้วไม่ผิดหวังเลย

ออฟไลน์ keekimaru

  • Newbie
  • *
  • กระทู้: 2
  • ขอบคุณ: 0 ครั้ง
    • แจกโปรแกรมทำบิลห้องเช่า ค่าน้ำค่าไฟ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 12-09-14 15:20:26 »
ขอบพระคุณครับ ที่นำเสนอข้อมูลดีๆ
แจกโปรแกรมทำบิลค่าเค่า เดือนละ 20 บาท
ดูรายละเอียดได้ที่ www.rent108.com
ลองสมัครใช้ สมัครใช้งานคลิกที่นี่