นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ได้ไปเยือน นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามโครงการรู้เขารู้เรา รู้จักอาเซียน ของกระทรวงวัฒนธรรม...

นับเป็นอีกหนึ่งครั้งที่ได้ไปเยือน นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตามโครงการรู้เขารู้เรา รู้จักอาเซียน ของกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งมี ท่านปลัดปริศนา พงษ์ทัดศิริกุล เป็นผู้นำคณะในการไปเยือนเมืองลาวในครั้งนี้
วันนี้นครหลวงเวียงจันทน์ เปลี่ยนไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะฝั่งริมโขง ที่มีการจัดทำภูมิทัศน์ใหม่ มีสวนสาธารณะไว้ออกกำลังกาย มีลู่ไว้สำหรับปั่นจักรยานยามเย็น ส่วนในยามค่ำคืนก็มีถนนคนเดิน มีร้านค้าขายสินค้าทันสมัย เสื้อผ้า และสินค้าพื้นเมือง มาวางขายกันหลากหลาย แต่ที่สังเกตเห็นได้ชัด คือ หนุ่มสาววัยรุ่น แต่งตัวตามสมัยนิยม เสื้อยืด กางเกงยีนทั้งขายาว ขาสั้น แต่ก็ยังมีภาพของสาวนุ่งซิ่นให้เห็นกันได้ชื่นใจ
ริมฝั่งถนนเต็มไปด้วยร้านอาหาร ผับ บาร์ มีเสียงเพลงฝรั่ง เพลงไทย คละเคล้ากันกับบรรยากาศยามค่ำคืน ก็เป็นอีกมนต์เสน่ห์หนึ่งของที่แห่งนี้ แต่สิ่งที่เราไม่เคยลืมกับการมาเวียงจันทน์ คือ การไปถ่ายรูปกับประตูชัย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ของการมาเยือนเวียงจันทน์
สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีพื้นที่ 236,800 ตารางกิโลเมตร มีพรมแดนทางทิศเหนือ ติดกับจีน ตะวันตกเฉียงเหนือติดกับพม่า ทางทิศตะวันออกติดกับเวียดนาม ทางทิศใต้ติดกับกัมพูชา และทางทิศตะวันตก ติดกับประเทศไทย กั้นด้วยแม่น้ำโขงเป็นบางช่วง ในด้านสังคมประเทศลาวเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ แต่กลุ่มชาติพันธุ์ลาวเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ ส่วนที่เหลือเป็นพวกไทขาว ไทดำ และกลุ่มที่อาศัยอยู่ในบริเวณภูเขา ได้แก่ ม้ง เย้าและข่า ประชากรของ ประเทศลาว ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา แต่มีบางส่วนที่นับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามธรรมชาติ ภาษาประจำชาติ คือ ภาษาลาว

เรียนรู้เรื่องสังคมของประเทศลาวกันพอประมาณ มาเข้าเรื่องกันต่อ หลังจากที่ทัศนาเวียงจันทน์ กันอย่างจุใจแล้ว ได้ยินชาวคณะคุยกันว่า จะไปหลวงพระบาง ก็รู้สึกตื่นเต้น เพราะจะเป็นครั้งแรกที่จะได้ไปสัมผัสเมืองมรดกโลกแห่งนี้
เคยแต่ได้ยินเขาเล่ากันว่า น่าเที่ยว เพราะสวยอย่างนั้น สวยอย่างนี้ ก็หยิบโทรศัพท์เปิดค้นหา เมืองหลวงพระบางผ่าน อาจารย์กู (กูเกิ้ล) ขอความรู้กับอาจารย์วิ (วิกิพีเดีย) อาจารย์วิ เขียนบอกไว้ว่า หลวงพระบาง ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของนครหลวงเวียงจันทน์ ประมาณ 200 กิโลเมตร เมืองแห่งนี้ได้รับการยกย่องให้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก เมื่อ พ.ศ. 2538 เนื่องจากมีวัดวาอารามเก่าแก่ มีบ้านเรือนที่มีเอกลักษณ์สไตล์โคโลเนียล มีธรรมชาติที่งดงามรายล้อมเมืองด้วยแม่น้ำ 2 สาย คือ แม่น้ำโขง และแม่น้ำคาน ขณะเดียวกันภายในเมืองยังมีความเงียบสงบ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใสใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ตามวิถีพุทธ

หลวงพระบางเป็นเมืองเก่าแก่ของอาณาจักรล้านช้าง ตั้งแต่สมัยสถาปนาอาณาจักร ซึ่งแต่เดิมมีชื่อว่าเมืองซวา (ออกเสียงว่า ซัว) และเมื่อ พ.ศ. 1300 ขุนลอ ซึ่งถือเป็น ปฐมกษัตริย์ลาวได้ทรงตั้งเมืองซวาเป็นราชธานีของอาณาจักรล้านช้างและได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่ว่าเชียงทอง ต่อมาในสมัยพระโพธิสารราชเจ้า พระองค์ได้อาราธนาพระบาง ซึ่งเดิมประดิษฐานอยู่ที่เมืองเวียงคำ ขึ้นมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองเชียงทองอันเป็นนครหลวง นับแต่นั้นเป็นต้นมาเมืองเชียงทองจึงถูกเรียกว่า หลวงพระบาง
เมื่อศึกษาความเป็นมาของหลวงพระบางคร่าวๆ แล้วถึงเวลาที่เจอของจริง เราใช้เวลาเดินทางโดยเครื่องบิน ประมาณเกือบ 2 ชั่วโมง จากสนามบินวัดไต เวียงจันทน์ มาถึงท่าอากาศยานนานาชาติ หลวงพระบาง ที่เพิ่งเปิดสนามบินใหม่ได้ไม่ถึงสัปดาห์ ดูทันสมัยใหญ่โตกว่าท่าอากาศยานนานาชาติวัดไต เป็นไหน ๆ (แอบเปรียบเทียบ)
ถึงหลวงพระบาง สิ่งแรกที่ได้เห็น คือ แม่น้ำคาน ที่ไหลผ่านเมืองหลวงพระบาง สีน้ำขุ่นเข้ม เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน จากนั้น เราก็มุ่งหน้าไปที่ วัดวิชุนราช หรือ พระธาตุหมากโม ที่สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานพระบาง ซึ่งอาราธนามาจากเมืองเวียงคำ ที่มีเจดีย์องค์ใหญ่รูปทรงคล้ายแตงโมผ่าครึ่ง ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระประธานขนาดใหญ่ที่สุดในหลวงพระบาง ด้านหลังพระประธานมีโบราณวัตถุ พระพุทธรูปที่เก็บรวบรวมมาจากวัดร้างต่าง ๆ จึงได้มีโอกาสได้กราบสักการะพระพุทธรูป ชื่นชมความงดงามของวัดวาอารามแห่งนี้
วัดที่ 2 วัดเชียงทอง ตั้งอยู่บนถนนโพธิสารราช ริมแม่น้ำโขงพอดี วัดเชียงทองเป็นวัดที่สำคัญและสวยงาม ได้รับการมาเยือนจากนักท่องเที่ยวทั่วโลกมากที่สุดก็ว่าได้ ภาพของวัดเชียงทองนั้นเป็นภาพจดจำความเป็นหลวงพระบาง นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกต่างก็มาเพื่อเยี่ยมชมวัดแห่งนี้ ด้วยความงามทางสถาปัตยกรรมที่ไม่เหมือนใคร และยังคงบอกเล่าเรื่องราวทางวัฒนธรรมของคนหลวงพระบางผ่านสิ่งต่าง ๆ ภายในวัดได้เป็นอย่างดี ฉะนั้นมาเที่ยวหลวงพระบางแล้วห้ามพลาดด้วยประการทั้งปวง

ไฮไลต์สำคัญของการมาหลวงพระบาง ก็คือ การตักบาตรข้าวเหนียวในช่วงเช้ามืด บริเวณหน้าวัด และหน้าบ้านเรือนของชาวลาว บนถนนศรีสว่างวงศ์ โดยจะมีพระภิกษุจากวัด 33 แห่ง เข้าแถวเดินเรียงรายมารับบาตร จากนักท่องเที่ยวที่นั่งคุกเข่า แล้วจกข้าวเหนียวในกระติ๊บใส่ลงไปในบาตร ส่วนกับข้าวนั้นจะมีบรรดาญาติโยมคนเฒ่าคนแก่นำไปถวายที่วัด เมื่อใส่บาตรเสร็จแล้วยังสามารถปั่นจักรยานหรือเดินเพลิน ๆ มายังตลาดเช้า ที่พ่อค้าแม่ค้า ขนสินค้าสด ๆ ทั้งผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และสินค้าพื้นเมือง มาขายสองข้างทางให้ได้เลือกชมกันอย่างละลานตา และเมื่อเดินไปจนสุดทาง ก็จะพบกับร้านประชานิยม ร้านกาแฟลาวชื่อดังบรรยากาศติดริมน้ำโขง ที่ใคร ๆ มาก็ต้องแวะมาลิ้มลอง ส่วนร้านข้าง ๆ ก็ยังมี เฝอลาว และข้าวเปียก ให้ลิ้มรสกันด้วย
หลังจากกินอิ่มแล้ว ก็ทำตัวให้สดชื่น มุ่งหน้าไปพระธาตุพูสี ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของพูสี บนความสูง 150 เมตร เป็นพระธาตุทรงดอกบัวสี่เหลี่ยมสีทอง ส่วนยอดประดับด้วยเศวตฉัตรทองสำริด ข้างบนนี้สามารถมองวิวเมืองหลวงพระบางได้ถึง 360 องศา

อีกทั้งยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกดินที่สวยงามที่สุดด้วย เมื่อลงมาด้านล่างเดินข้ามฝั่งไป ก็จะพบกับ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหลวงพระบาง ซึ่งอดีตเคยเป็นพระราชวังหลวง ซึ่งเป็นที่ประทับของเจ้ามหาชีวิตลาว สร้างในปี 2477 ภายในจัดแสดงเป็นห้องต่าง ๆ อาทิ ห้องฟังธรรม ห้องท้องพระโรงหน้า ห้องพระ ซึ่งมีพระบาง พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองหลวงพระบาง ประดิษฐานอยู่ ห้องโถงประดิษฐานพระพุทธรูปและวัตถุมงคลทางศาสนา ที่เป็นเครื่องราชบรรณาการจากเมืองอื่น ห้องที่รวบรวมสิ่งของมีค่าที่ได้จากการบูรณปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่าง ๆ รวมทั้งห้องนิทรรศการแสดงของที่ระลึกจากผู้นำต่างบ้านต่างเมือง เป็นต้น
อีกหลายสถานที่ที่เราได้ไปและประทับใจ ก็คือ น้ำตกตาดกวางสี สวยงามมาก การลงเรือล่องทวนแม่น้ำโขงไปชมถ้ำติ่ง ซึ่งอยู่บนหน้าผา ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปที่ชาวลาวนำมาถวายเป็นพุทธบูชากว่า 3,000 องค์ มีทั้งพระพุทธรูปที่ทำมาจากดิน ปูนสัมริด ไม้ วางเรียงกันเป็นชั้น ๆ มากมายละลานตา
ทั้งหมดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางไปเรียนรู้ประเทศลาว ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียนที่น่าไปเยือน และมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับเรา การพูด หรือการสื่อสาร เข้าใจกันง่าย ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อกลับมาแล้วอยากให้คนไทย เมืองไทย กลับมามีรอยยิ้มเหมือนชาวหลวงพระบาง และรักษาของดีของเราให้คงอยู่ ให้คนจากทั่วโลกได้ภาคภูมิใจเหมือนชาวหลวงพระบางที่เรียกตัวเองว่า คนมรดกโลก.
มนตรี ประทุม
ที่มา -
http://www.dailynews.co.th/education/232521