0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ผู้เขียน หัวข้อ: ยกระดับคุณภาพอิสลามศึกษาสู่ประชาคมอาเซียนและเวทีโลก  (อ่าน 2667 ครั้ง)

ออฟไลน์ teacher_a

  • Teacher
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 348
  • ขอบคุณ: 15 ครั้ง
« เมื่อ: 04-09-13 22:12:34 »
อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้ทุกคนต้องใฝ่ศึกษาแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุลและต่อเนื่องตลอดชีวิต...


อิสลามเป็นศาสนาที่ส่งเสริมและกระตุ้นเตือนให้ทุกคนต้องใฝ่ศึกษาแสวงหาความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตอย่างสมดุลและต่อเนื่องตลอดชีวิต ดังเช่นวัจนะที่มักได้ยินบ่อยครั้ง คือ ’การแสวงหาความรู้เป็นสิ่งบังคับเหนือมุสลิมทุกคน“ “จงศึกษาตั้งแต่อยู่ในเปลจนถึงหลุมฝังศพ” การศึกษาในทรรศนะอิสลามนั้นเป็นกระบวนการถ่ายทอดความรู้ที่ครอบคลุมทุกมิติทุกแง่มุมแห่งการดำเนินชีวิต ไม่ใช่เป็นเพียงแค่การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ ทักษะจากคนรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นหนึ่งเท่านั้น แต่รวมไปถึงการอบรม ขัดเกลาจิตใจ บ่มเพาะสติปัญญา ร่างกาย และจิตวิญญาณ ซึ่งถือได้ว่าเป็น “วิถีชีวิต” (Way of life)

ในการจัดการศึกษาในโรงเรียนให้กับผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามหรือ ’อิสลามศึกษา“จึงจำเป็นต้องให้การศึกษาที่มีความสอดคล้องตามวิถีชีวิต เป็นการจัดการศึกษาเพื่อให้มุสลิมทุกคนได้รับความรู้ทั้งทางโลกและทางธรรม เพื่อให้ทุกคนสามารถปฏิบัติตามหลักธรรมทางศาสนาได้อย่างถูกต้อง เสริมสร้างให้เป็นบุคคลที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ และที่สำคัญยิ่งคือการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างสันติสุข

ปัจจุบันประเทศไทยมีการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในลักษณะและรูปแบบที่แตกต่างหลากหลาย เช่น อิสลามศึกษาในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม โรงเรียนของรัฐบาล สถาบันการศึกษาปอเนาะ การสอนตามมัสยิดมีทั้งตาดีกาและฟัรฎูอีน เป็นต้น

สิ่งที่ปรากฏและเห็นได้ชัดเจน นั่นคือ แต่ละโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษามีการใช้หลักสูตรการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาที่แตกต่างหลากหลายและมีหลายหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบซึ่งอยู่ในลักษณะที่ต่างคนต่างทำ ขาดการประสานงานร่วมมือร่วมใจ เป็นสิ่งที่ส่อให้เห็นถึงการขาดความเป็นเอกภาพในเชิงนโยบายเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนที่สุดผลสรุปสุดท้ายก็ตกไปอยู่ที่คุณภาพผู้เรียนที่ตกต่ำและแตกต่างกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ในขณะที่การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในหลายประเทศโดยเฉพาะการศึกษาในระดับขั้นพื้นฐาน พบว่าล้วนแล้วแต่มีความเป็นเอกภาพด้านนโยบายสูงมาก เพราะต่างกำหนดให้ทุกโรงเรียนที่จัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาต้องใช้หลักสูตรและหนังสือเรียนหรือสื่อการเรียนการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการหรือหน่วยงานของรัฐกำหนด
จากการศึกษาดูงานด้านการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาของประเทศบรูไนดารุสซาลาม พบว่ามีหลายประเด็นที่เห็นควรนำกลับมาพิจารณา ทบทวน ตรวจสอบ เทียบเคียง เพื่อวางแผนพัฒนาและยกระดับคุณภาพ

การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาในประเทศไทย เช่น บรูไนมีกระทรวงการศาสนาดูแลการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ส่วนกระทรวงศึกษาธิการดูแลการจัดการเรียนการสอนวิชาสามัญทั่วไป ทั้งโรงเรียนของรัฐและเอกชนทุกแห่งต้องใช้หลักสูตรเดียวกันและหนังสือเรียนเหมือนกัน รวมถึงกำหนดให้นักเรียนทุกคนไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตามต้องเรียนอิสลามศึกษาอย่างน้อยจบระดับอิสลามศึกษาตอนต้น (อิบติดาอิยะฮฺ) นักเรียนจะเลือกเรียนศาสนาในโรงเรียนเดียวกับโรงเรียนสามัญหรือไปเรียนที่โรงเรียนอื่นทั้งโรงเรียนของรัฐและโรงเรียนเอกชนได้ตามความต้องการ โดยมีระบบการสอบเทียบชั้นเรียนเพื่อไปเรียนในโรงเรียนสอนศาสนา
ส่วนอีกประเด็นที่น่าสนใจนั่นคือ ในการเข้ารับราชการนั้นจะมีการจัดอบรมให้ก่อนการเข้ารับราชการใหม่ และเข้าไปต้องเป็นครูพี่เลี้ยงหรือเป็นผู้ช่วยครูก่อน หลังจากบรรจุแล้วรัฐส่งเสริมให้ครูทุกคนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยให้ครูที่สอนครบ 3 ปีหยุดพักได้ 1 ปี เพื่อไปรับการฝึกอบรม แล้วจึงกลับมาสอนใหม่ โดยรัฐสนับสนุนทั้งเงินเดือนและเงินทุนในการพัฒนาตนเอง

สิ่งสำคัญที่ขอฝากไว้พิจารณานั่นคือ การจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษา ต้องมีความเป็นเอกภาพด้านนโยบายแต่มีความหลากหลายในทางปฏิบัติ  ซึ่งมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่กระทรวงศึกษาธิการจะต้องจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะเพื่อรับผิดชอบอิสลามศึกษาทั้งระบบ ทุกรูปแบบ ทุกสังกัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนอิสลามศึกษาทุกสังกัดในประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านหลักสูตรอิสลามศึกษาซึ่งเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของการจัดการศึกษา จะต้องจัดให้มี ’หลักสูตรแกนกลางอิสลามศึกษาแห่งชาติ“  ที่กำหนดมาตรฐานคุณภาพผู้เรียนของแต่ละระดับการศึกษา สำหรับการนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัตินั้นโรงเรียนทุกสังกัดแต่ละแห่งสามารถพัฒนาและเติมเต็มผู้เรียนให้มีคุณภาพสูงขึ้นได้ตามความพร้อมและจุดเน้นตามที่ต้องการ แต่ต้องไม่น้อยไปกว่ามาตรฐานที่หลักสูตรกำหนด และการผลิตหนังสือเรียนและสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนอย่างทั่วถึงและต่อเนื่องด้วย

ณ วันนี้ คงถึงเวลาแล้วที่กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้ามาช่วยกันคิดร่วมกันทำเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพอิสลามศึกษาของประเทศ พัฒนาผู้เรียนให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีระเบียบวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม และเปี่ยมด้วยคุณภาพที่สามารถก้าวสู่ประชาคมอาเซียนและเวทีโลกได้อย่างมั่นใจ.

ฟาฏินา วงศ์เลขา
ที่มา - http://www.dailynews.co.th/education/230265