เอแบคโพลล์ ชี้ กว่า 61.% คนไทยรู้สึกระหว่างตื่นเต้น และกังวลกับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ขณะที่คนส่วนใหญ่เห็นว่า ต้องแก้ไขการเมือง เป็นสิ่งแรกแล้วประเทศชาติจะไปได้ไกลกว่านี้

วันที่ 16 ส.ค. นางสาวปุณฑรีก์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านนโยบายสาธารณะเพื่อกิจการอาเซียน สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ความตื่นเต้น และความกังวลของคนเมือง ต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่พักอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,478 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-15 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกเขต/อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน พบว่า
เมื่อสอบถามกลุ่ม ตัวอย่างถึงความรู้สึกระหว่างตื่นเต้นกับกังวลต่อการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน พบว่า ตัวอย่างส่วนมากหรือร้อยละ 61.6 รู้สึกตื่นเต้น เพราะเป็นการเปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน การไหลเวียนของทรัพยากรต่างๆ อาจทำให้ประชาชนชาวไทยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และเป็นการกระตุ้นคนไทยในการพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อให้มีความสามารถทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้ เป็นต้น
ในขณะที่ร้อยละ 38.4 รู้สึกกังวล เพราะขณะนี้เศรษฐกิจไม่ดี สถานการณ์การเมืองวุ่นวาย กลัวว่าไม่สามารถพัฒนาให้ทัดเทียมประเทศอื่นได้ กลัวปรับตัวไม่ทันและไม่สามารถสื่อสารกับประเทศอื่น กลัวว่าจะด้อยกว่าประเทศอื่นในเรื่องศักยภาพทางด้านการศึกษา ทักษะการทำงานและการดำเนินชีวิต เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามถึงการรับรู้เกี่ยวกับเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 93.6 ไม่ทราบว่า เลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบัน คือใคร มาจากประเทศอะไร มีเพียงร้อยละ 6.4 เท่านั้นที่ทราบและสามารถระบุถูกต้องว่า มาจากประเทศเวียดนาม คือ นายเลอ เลือง มินห์
กลุ่มตัวอย่างเกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 59.7 คิดว่า สถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทย จะส่งผลต่อการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่หรือร้อยละ 82.3 คิดว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
ประเด็นที่น่าพิจารณา คือ เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า ประเทศชาติจะไปได้ไกลกว่านี้ หากมีการแก้ไขเรื่องใดต่อไปนี้ พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 78.8 ได้แก่ การเมือง อันดับสอง ร้อยละ 65.4 ได้แก่ เศรษฐกิจ อันดับสาม ร้อยละ 42.5 ได้แก่ การศึกษา และรองๆ ลงมา ได้แก่ ร้อยละ 31.0 ระบุสังคม ร้อยละ 27.3 ระบุระบบสาธารณูปโภค ร้อยละ 24.6 ระบุคุณธรรม จริยธรรม ร้อยละ 22.1 ระบุการท่องเที่ยว และร้อยละ 9.7 ระบุการคมนาคม ตามลำดับ
นางสาวปุณฑรีก์ ผช.ผอ. กล่าวว่า รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาและยกระดับประเทศ อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมในทุกมิติควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความสามารถ และศักยภาพ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและการประกอบอาชีพให้ทัดเทียมประเทศอื่นๆ ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตชนบท ถิ่นทุรกันดาร ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าการพัฒนาจะถูกมุ่งเน้นไปที่บริเวณชุมชนเมือง นอกจากนี้ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงและปรับตัวให้เข้าสู่สังคมนานาชาติ ควรให้ความสำคัญควบคู่ไปกับการส่งเสริมและการปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมอันดีงามของไทยให้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กและเยาวชน
ที่มา - ไทยรัฐ